ตะลึง! “ฮาวาร์ด” ยืนยันถ่านหินจะทำให้คนไทยตายก่อนวัยอันควรเพิ่มขึ้นปีละ 3,000 ราย

ศูนย์ข่าวภาคใต้ - จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย นำเสนอรายงานผลการวิจัยของมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด และกรีนพีซ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ชี้จนถึงปี พ.ศ.2554 โรงไฟฟ้าถ่านหินที่มีอยู่ในประเทศไทยเป็นสาเหตุของการเสียชีวิตก่อนวัยอันควรของประชากรเพิ่มขึ้นปีละ 3,000 คน

วันนี้ (19 พ.ย.) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่ห้อง 275 ชั้น 2 อาคารมหาจุฬาลงกรณ์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มีเวทีนำเสนอรายงานวิจัยมลพิษทางอากาศจากถ่านหินของประเทศไทย ผลการวิจัยของมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด และกรีนพีซ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ชี้จนถึงปี พ.ศ.2554 โรงไฟฟ้าถ่านหินที่มีอยู่ในประเทศไทยเป็นสาเหตุของการเสียชีวิตก่อนวัยอันควรของประชากรประมาณ 1,550 คนต่อปี อัตราการเสียชีวิตก่อนวัยอันควรอาจเพิ่มขึ้นถึง 5,300 คนต่อปี หากรัฐบาลไทยเดินหน้าขยายโรงไฟฟ้าถ่านหินใหม่ในประเทศ

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เวทีเริ่มด้วยการกล่าวนําการประเมินผลกระทบสุขภาพของประเทศไทย โดย ศ.ดร.สุริชัย หวันแก้ว คณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ สํานักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ และผู้อํานวยการศูนย์ศึกษาสันติภาพและความขัดแย้ง จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ต่อด้วยการเสนองานวิจัยการลงทุนถ่านหินของประเทศไทย โดย น.ส.จริยา เสนพงศ์ กรีนพีซเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

ต่อด้วยการนำเสนอรายงานวิจัยมลพิษทางอากาศจากถ่านหินของประเทศไทย โดย น.ส.แซนนอน คอบลิซ นักวิจัยทรงคุณวุฒิมหาวิทยาลัยฮารวาร์ด และรายงานวิจัยมลพิษทางอากาศจากถ่านหินของประเทศไทย โดย นายลาวรี่ มิลลีเวียตา ผู้เชียวชาญด้านพลังงาน กรีนพีซอินเตอร์และยังมีการนำเสนองานวิจัยมลพิษทางอากาศจากถ่านหินกับการสูญเสียทางเศรษฐกิจ โดยนายศุภกิจ นันทะวรการ ผู้จัดการมูลนิธินโยบายสุขภาวะด้าน นพ.สุภัทร ฮาสุวรรณกิจ ผู้อํานวยการโรงพยาบาลจะนะ จ.สงขลา นำเสนอ การประเมินผลกระทบโดยชุมชน น.ส.สมพร เพ็งค่ำ นักวิชาการการประเมินผลกระทบโดยชุมชน นำเสนอ ประเทศไทยกับการปฏิรูปการประเมินผลกระทบด้านสุขภาพ นายแพทย์วิพุธ พูลเจริญ ประธานกรรมการคณะกรรมการพัฒนาระบบ และกลไกลการประเมินผลกระทบด้านสุขภาพ สํานักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ

แซนนอน คอบลิซ นักวิจัยทรงคุณวุฒิ มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด กล่าวว่า มลพิษทางอากาศจากโรงไฟฟ้าถ่านหินทำให้เกิดฝุ่นละออง และโอโซนที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ ผลวิจัยของเราชี้ให้เห็นว่า การขยายการผลิตไฟฟ้าจากถ่านหินตามแผนที่วางไว้จะทำให้มลพิษทางอากาศเพิ่มความเข้มข้นมากขึ้นทั่วทั้งภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ต้นทุนสุขภาพ และชีวิตของผู้คนจากมลพิษถ่านหินควรจะต้องนำมาพิจารณาในการตัดสินใจถึงทางเลือกอนาคตพลังงานของไทย

การปล่อยซัลเฟอร์ไดออกไซด์สู่บรรยากาศ พบว่า ในอเมริกา ยุโรปนั้นลดลงมาก เพราะการเดินเครื่องของโรงไฟฟ้าถ่านหินลดลง แต่กำลังเพิ่มในเอเชียโดยเฉพาะจีน และอินเดีย และในอาเซียนก็กำลังปล่อยมากขึ้น การจากงานวิจัยในอาเซียนมีการศึกษาวิจัยการปล่อยซัลเฟอร์ และอานุภาคฝุ่นขนาดไหนกระทบสุขภาพ สิ่งแวดล้อมแค่ไหน ผลจากการศึกษาวิจัยในอาเซียน พบว่า การปล่อยซัลเฟอร์ กับไนโตรเจนไดออกไซด์ ปล่อยมากที่สุดคือ อินโด ไทย ญี่ปุ่น ตามลำดับ

อีก 15 ปี หากโรงไฟฟ้าถ่านหินอีก 400 โรง ก่อสร้างโรงสำเร็จ ทั้งไทย อินโด เวียดนาม พม่าจะปล่อยซัลเฟอร์ กับไนโตรเจนไดออกไซด์อีกจำนวนมาก จากผลการคำนวณอัตราการตายก่อนวัยอันควรในปี 2030 โดยพบว่า ในปี 2030 จะมีการตายก่อนวัยอันควรจากฝุ่น PM2.5 ราว 3,080 คน และจากโอโซน 110 คน นั่นแปลว่า ถ่านหินจะทำให้คนไทยตายก่อนวัยอันควรเพิ่มขึ้นปีละ 3,000 ราย

นายลาวรี่ มิลลีเวียตา ผู้เชี่ยวชาญด้านพลังงาน กรีนพีซสากล กล่าวว่า ผลกระทบต่อสุขภาพจากโรงไฟฟ้าถ่านหินในประเทศไทยพบว่าฝุ่นขนาดเล็กกว่า 2.5 ไมครอน ซึ่งสามารถเข้าไปในปอดในร่างกายของคนเราได้ หากนำหน้ากากแบบกรองละเอียดมาใส่จะพบว่าตัวกรองจะเปลี่ยนจากสีขาวเป็นสีดำ และจากผลวิจัยมลพิษทางอากาศทำให้คนตายก่อนวัยอันควร 3 ล้านคนทั่วโลก อยู่ในอาเซียน 160,000 คน ซึ่งมลพิษทางอากาศจัดเป็นสารก่อมะเร็ง โดยถ่านหินเป็นตัวก่อมลพิษทางอากาศราว 1 ใน 3 ของมลพิษอากาศ

จากการศึกษาโรงไฟฟ้าแม่เมาะ ที่ จ.ระยอง ที่ทับสะแก จ.ประจวบฯ ที่ จ. กระบี่ ที่ อ.เทพา จ.สงขลา พบว่า โรงไฟฟ้าที่เดินเครื่องแล้วนั้นพบว่า ภาคกลาง ภาคเหนือ มีฝุ่นกระจายในวงกว้างหากเพิ่มกระบี่ ทับสะแก จะส่งผลให้ภาคใต้มีการปนเปื้อนด้วยฝุ่นอันตราย จากที่ปัจจุบันยังไม่มีผลกระทบจากโรงไฟฟ้าถ่านหิน

ผลจากการศึกษาพบว่า จะมีการตายก่อนวัยอันควรจากโรคทางเดินหายใจ หลอดเลือดสมอง มะเร็งปอด หัวใจ ตัวเลขปัจจุบันปีละ 1,150 ราย แต่หากสร้างตามแผนก็จะสร้างเพิ่ม จะมีคนเสียชีวิตเพิ่มเป็น 3,200 รายต่อปี

นายลาวรี่ ยังได้ศึกษาลงรายละเอียดที่ จ.ระยอง จ.กระบี่ และ อ.เทพา จ.สงขลา โดย จ.ระยอง เป็นโรงไฟฟ้าถ่านหินที่ปล่อยมลพิษอันดับ 2 ของประเทศ ซึ่งตั้งอยู่ห่างจากกรุงเทพมหานครเพียง 120 กม.เท่านั้นเอง

คำนวณว่าโรงไฟฟ้าถ่านหิน 2 โรงที่ จ.ระยอง จะทำให้มีการเสียชีวิตราว 360 รายต่อปี กรณี จ.กระบี่ จะส่งผลกระทบทั้งฝั่งอันดามัน และพื้นที่แรมซาร์ พื้นที่ชุ่มน้ำที่สำคัญ และผลกระทบจะกระจายมลพิษมาถึง จ.ภูเก็ต ด้วยการกระจายมลพิษของ จ.กระบี่ ขึ้นกับมรสุมครึ่งปีพัดไปทาง จ.ภูเก็ต อีกครึ่งปีพัดไปทาง จ.นครศรีธรรมราช

ผลจากการวิจัยโรงไฟฟ้าถ่านหิน จ. กระบี่ จะทำให้มีการตายก่อนวัยอันควรราวปีละ 1,750 รายต่อปี และคาดการณ์ว่าฝนกรดจะกระทบต่อพื้นที่ชุ่มน้ำ และโลหะหนักก็จะชะล้างลงพื้นที่ชุ่มน้ำและสู่ทะเลอันดามัน มีการประมาณการเถ้าถ่านหินที่จะฟุ้งกระจายในอากาศด้วย เป็นเถ้าเบาที่ออกจากปล่องโรงไฟฟ้าถ่านหิน และลงไปยังพื้นที่ชุ่มน้ำราว 9,000 กิโลกรัมต่อปี โดยโรงไฟฟ้าถ่านหินจะปล่อยเถ้าออกมาราวปีละ 150 ตัน

กรณีที่โรงไฟฟ้าถ่านหิน อ.เทพา จ.สงขลา ผลกระทบจะกระจายมาถึง อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา และ จ.ปัตตานี ประเมินว่า จะมีคนตายก่อนวัยอันควร 4,420 รายต่อปี และส่งผลให้เกิดฝนกรดกระจายมาถึง จ.สตูล จ.ปัตตานี และ จ.สงขลา เกือบทั้งจังหวัด และจะเถ้าลอยหนาแน่นใน อ.เทพา จำนวนมาก

นายลาวรี่ บอกว่า ประเทศไทยยินยอมให้ปล่อยมลพิษมากกว่าประเทศสหรัฐฯ และประเทศจีน หรือยุโรปนับสิบเท่า ประเทศไทยจึงมีการตายก่อนวัยอันควรมากกว่าจีน และอเมริกา ปี 2014 มีข่าวดีว่าเป็นปีแรกที่ทั่วโลกมีการใช้พลังงานหมุนเวียนมากกว่าพลังงานฟอสซิล ผลการศึกษาแบบนี้ไม่เคยปรากฏในรายงาน EHIA

นายลาวรี่ เสนอว่า ให้ประเทศไทยปรับค่ามาตรฐานให้ได้มาตรฐานแบบอารยะประเทศ ให้มีการศึกษาผลกระทบด้านสุขภาพจริงๆ ไม่ใช่แบบเดิม และพัฒนาพลังงานหมุนเวียนอย่างเร่งด่วน

จริยา เสนพงศ์ ผู้ประสานงานรณรงค์ด้านพลังงานและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ กรีนพีซ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ จาการศึกษาต้นทุนชีวิต โรงไฟฟ้าถ่านหินกับภัยคุกคามต่อสุขภาพของคนไทย เป็นการศึกษาเกี่ยวกับอัตราการเจ็บป่วย และการตายที่เกี่ยวเนื่องต่อโรงไฟฟ้าถ่านหินในประเทศไทย ข้อมูลดังกล่าวเป็นผลการคำนวณแบบจำลองบรรยากาศ (Atmospheric Modeling) ที่ดำเนินการโดยทีมวิจัย Atmospheric Chemistry Modeling ของมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด โดยใช้เครื่องมือที่เรียกว่า แบบจำลองการเคลื่อนที่ของเคมีในบรรยากาศ (Atmospheric chemistry-transport model- GEOS-Chem

“ทุกๆ โรงไฟฟ้าถ่านหินที่สร้างขึ้นใหม่คือความเสี่ยงด้านสุขภาพของคนไทยที่เพิ่มขึ้น การเสียชีวิตก่อนวัยอันควรมาจากโรคเส้นเลือดอุดตัน หัวใจวาย มะเร็งปอด และโรคที่เกี่ยวกับระบบหัวใจหลอดเลือด และทางเดินหายใจต่างๆ ซึ่งผลกระทบนี้ยังรวมถึงการเสียชีวิตของประชากรวัยเด็ก” จริยา กล่าวและว่า

เฉพาะโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินกระบี่ซึ่งถูกโฆษณาว่าเป็น “ถ่านหินสะอาด” มลพิษทางอากาศที่ปล่อยออกมาจะเป็นสาเหตุของการเสียชีวิตก่อนวัยอันควรได้มากถึง 1,800 คน ในช่วงระยะเวลา 40 ปี ของการดำเนินงาน และหากนำมลพิษทางอากาศที่ปล่อยออกมาจากโรงไฟฟ้าถ่านหินบีแอลซีพี และเก็คโค่วัน ที่นิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุดรวมเข้าไปด้วย จะเป็นสาเหตุของการเสียชีวิตก่อนวัยอันควรถึง 14,000 คน ตลอดระยะเวลา 40 ปี ของการดำเนินงานของโรงไฟฟ้า ตอนนี้จึงเป็นโอกาสของนายกรัฐมนตรีที่จะเลือกก้าวข้ามเทคโนโลยีสกปรก เช่นเดียวกันกับผู้นำโลกคนอื่นที่ได้ประกาศเปลี่ยนมาใช้พลังงานสะอาด และสิ่งนี้ส่งผลให้เกิดความมั่นคงต่อชีวิตของประชาชนอย่างแท้จริง

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ช่วงท้ายของกิจกรรมได้มีการแถลงข่าว และออกแถลงการณ์ของเครือข่าย คําแถลงการณ์ร่วม เครือข่ายประชาชน 12 จังหวัดเพื่อการปกป้องพื้นที่จากโรงไฟฟ้าถ่านหิน

1.เราตระหนักว่าโลกกําลังเผชิญต่อวิกฤตครั้งสําคัญว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและโลกในปัจจุบันนี้กําลังเต็มไปด้วยมลพิษที่คร่าชีวิตคน และทําลายสิ่งแวดล้อมอย่างที่ไม่เคยปรากฏมาก่อน จนผู้นําของโลกหลายคนได้ออกมารณรงค์เรียกร้องต่อเรืองนี้ คณะกรรมการร่วมระหว่างรัฐบาลซึ่งสนับสนุนโดยสหประชาชาติ ชี้ชัดว่าการใช้พลังงานฟอสซิลเป็นปัญหาหลักของการทําให้เกิดการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และถ่านหินกลายเป็นสาเหตุสําคัญของปัญหา นอกจากนี้ ได้ปรากฏงานวิจัยในหลายประเทศบ่งชี้ว่า ถ่านหินคือตัวการทําลายสิ่งแวดล้อมและสุขภาพของมนุษย์อย่างรุนแรง

2.หลายประเทศในโลกจึงเร่งดําเนินการ 2 ประการเพื่อลดวิกฤตดังกล่าวคือ การปิดโรงไฟฟ้าถ่านหินทั้งในประเทศอเมริกา จีน ยุโรป อย่างที่ไม่เคยปรากฏมาก่อน และทั้งโลกได้แสวงหาความมั่นคงทางพลังงานด้วยพลังงานหมุนเวียนจนมีสัดส่วนเพิ่มขึ้นอย่างมาก และกลายเป็นทางเลือกของความมั่นคงด้านพลังงานที่ไม่ทําลายชีวิตคน และสิ่งแวดล้อม

3.ความรุนแรงของปัญหาได้กระตุ้นให้เกิดปฏิบัติการหยุดการลงทุนในกิจการฟอสซิลอย่างที่ไม่เคยปรากฏมาก่อน โดยปัจจุบันได้มีการถอนการลงทุนจากพลังงานฟอสซิลแล้ว จํานวน 2.6 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือ 6.8 เท่าของจีดีพีประเทศไทยปี 2557 เป็นปฏิบัติการจาก 400 สถาบันการศึกษา 430 บริษัท และ 2,040 ปัจเจกบุคคล จาก 43 ประเทศ และนี่คือการแสดงความรับผิดชอบต่อโลก

4.ต้นเดือนธันวาคมนี้ทั้งโลกได้ตระหนักต่อภัยคุกคามสําคัญดังกล่าวโดยได้รวมตัวกันมาประชุมที่กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส เพื่อหาทางช่วยให้โลกพ้นจากวิกฤตการณ์ว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ซึ่งหลายประเทศได้แสดงความรับผิดชอบด้วยการสร้างรูปธรรมให้เห็นมาแล้วก่อนหน้านี้ และการประชุมคราวนี้โลกอาจมีความก้าวหน้ามากขึ้นทั้งในระดับนโยบายรัฐ และการเปลี่ยนแปลงในระดับ เอกชน และบุคคล ทั้งหมดนี้คือการแสดงความรับผิดชอบต่อโลก และชีวิตของประชาชนในประเทศ

5.รัฐบาลไทยกลับประพฤติสวนทางต่อความรับผิดชอบต่อโลก สวนทางต่อความพยายามของ นานาชาติที่จะลดการใช้พลังงานฟอสซิล ในขณะที่หลายประเทศในโลกปิด และลดการใช้ถ่านหิน รัฐบาลไทยกลับประกาศสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินโรงใหม่ งานวิจัยหลายประเทศในอเมริกา และยุโรปบ่งชี้ถึงอันตรายด้านสุขภาพ และหายนะด้านสิ่งแวดล้อมจากโรงไฟฟ้าถ่านหิน แต่ กฟผ.กลับประกาศว่ามีโรงไฟฟ้าถ่านหินเทคโนโลยีสะอาด ทุกอย่างสวนทางต่อโลกทั้งหมด มันเป็นความเพิกเฉยของรัฐบาลต่อ ความปลอดภัยในชีวิตของประชาชน และยังหลงอยู่กับวาทกรรมถ่านหินสะอาดอย่างน่าละอาย

6.เราขอเตือนไปยังรัฐบาลว่าพื้นที่แห่งชีวิตของเรานั้นหมายถึงสิ่งแวดล้อมที่ดี สุขภาพที่สมบูรณ์และนี่เป็นจริยธรรมพื้นฐานที่รัฐพึงปฏิบัติต่อประชาชน ดังเช่นหลายประเทศที่กําลังดําเนินการปิดโรงไฟฟ้าถ่านหิน เพราะตระหนักถึงอันตรายที่จะเกิดต่อประชาชนในชาติ สิ่งที่เราไม่เข้าใจคือที่ผ่านมา รัฐได้พยายามอย่างมากมายในการให้สิทธิพิเศษกับนักลงทุนต่างชาติ แต่เราเป็นประชาชนของประเทศที่ไม่เคยเรียกร้องสิทธิพิเศษใด ขอเพียงรัฐบาลหยุดทําลายเราด้วยการสนับสนุนให้นายทุนถ่านหิน และการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย มา ‘ฆ่า’ เราด้วยการที่รัฐบาลปล่อยให้มีการสร้างโรงไฟฟ้าด้วยเชื้อเพลิงถ่านหิน

7.พื้นที่แห่งชีวิตของเราเหลือไม่มากนัก เราไม่มีสิ่งแวดล้อมมากพอที่ให้พวกท่านนําไปทําลาย พื้นที่อันน้อยนิดเหล่านี้เราขอปกป้องมันไว้ เพื่ออนาคตของลูกหลานเรา รัฐบาลอย่าได้ปล่อยให้มีการแสวงหากําไรทางธุรกิจบนความตายของประชาชนในชาติ!

8.เราไม่ได้รุกรานใคร เราเพียงปกป้องพื้นที่แห่งชีวิตของเราเอง อํานาจของพวกท่านได้มาแล้วจากไป แต่พื้นที่แห่งชีวิตของเราจะหล่อเลี้ยงลูกหลานของเราไปชั่วกาล เราจึงไม่มีทางเลือกอื่นนอกจากใช้ชีวิตเข้าไปปกป้องมันไว้!

9.เราจึงขอเตือนไปยังรัฐบาลว่ามีความละอายต่อโลกบ้าง เห็นแก่ชีวิตของประชาชนในชาติบ้างก่อนที่วิกฤตมันจะลุกลามมากไปกว่านี้ ในนามเครือข่ายประชาชน ๑๒ จังหวัดปกป้องพื้นที่จากโรงไฟฟ้าถ่านหิน จึงขอประกาศให้รัฐบาลถอดโรงไฟฟ้าถ่านหินออกจากแผนพีดีพีของประเทศ สร้างมาตรการที่เอื้อต่อการเกิดความมั่นคงทางพลังงานด้วยพลังงานหมุนเวียน และดําเนินการมาตรการอนุรักษ์พลังงานอย่างจริงจัง หยุดการคุกคามประชาชนของตัวเอง และหากรัฐบาลไม่หยุดเราก็ไม่อาจถอยมากไปกว่านี้ได้อีกแล้ว

แหล่งข่าว: 
ผู้จัดการออนไลน์

เนื้อหาข่าวเป็นการรวบรวมเพื่อการศึกษาวิจัยเท่านั้น อันเป็นประโยชน์ต่อสาธารณะ มิได้นำไปเพื่อการค้าแต่อย่างใด