นิธิ เอียวศรีวงศ์: นายกฯ จากการเลือกตั้ง

นิธิ เอียวศรีวงศ์: นายกฯ จากการเลือกตั้ง
นิธิ เอียวศรีวงศ์

ข้อเสนอของนายมีชัย ฤชุพันธุ์ให้พรรคการเมืองเสนอชื่อบุคคลที่ต้องการสนับสนุนให้เป็นนายกรัฐมนตรี 5 ชื่อ ก่อนเลือกตั้ง เป็นข้อเสนอที่น่าอัศจรรย์ใจอย่างยิ่ง นายมีชัยจะอ้างว่าเป็นสิ่งใหม่ และทำให้ประชาชนรู้ก่อนว่าจะเลือกใครเป็นนายกฯ แต่ก็ดังที่คุณใบตองแห้งได้วิจารณ์ไว้แล้วว่า ข้อเสนอนี้ไม่ใช่ของใหม่ และในทางปฏิบัติ นับตั้งแต่มีการเลือกตั้งตามรัฐธรรมนูญ 2540 เป็นต้นมา ผู้ลงคะแนนเสียงเลือกตั้งก็รู้อยู่แล้วว่า ที่เลือกผู้สมัครของพรรคนั้นพรรคนี้ ก็เท่ากับเลือกหัวหน้าพรรคนั้นๆ เป็นนายกฯ นั่นเอง จะมีข้อยกเว้นก็แต่กรณีคุณยิ่งลักษณ์ ชินวัตรเท่านั้น เพราะเธอไม่ได้ดำรงตำแหน่งหัวหน้าพรรค แต่ก็เป็นที่รู้กันว่า หากพรรคเพื่อไทยได้คะแนนนำ เธอก็จะเป็นนายกฯ และชื่อของเธอก็อยู่ในอันดับแรกของผู้สมัครบัญชีรายชื่อ

ที่จริง ไม่แต่ประชาธิปไตยของไทยเท่านั้น ประเทศประชาธิปไตยอื่นๆ ก็เหมือนกัน คือประชาชนรู้อยู่แล้วว่า หัวหน้าพรรคที่ได้เสียงข้างมากในสภาย่อมจะขึ้นดำรงตำแหน่งนายกฯ แม้ว่าทั้งไทยและประเทศเหล่านั้นไม่มีข้อกำหนดตายตัวเช่นนี้ในรัฐธรรมนูญก็ตาม นี่แหละครับ คือประเพณีการปกครองในระบอบประชาธิปไตย ซึ่งไม่ได้หมายความว่าจะเอาอำนาจนอกระบบมาแทรกแซงกระบวนการทางการเมืองที่มีประชาชนเป็นผู้ถืออำนาจอธิปไตยได้ อย่าง"มั่วๆ"

ในเมืองไทยก่อนรัฐธรรมนูญ 2540 การเลือกตั้งไม่ทำให้เกิดเสียงข้างมากอย่างเด็ดขาด ทำให้หัวหน้าพรรคไม่สามารถ (หรือไม่กล้า) รวบรวมคะแนนเสียงจากพรรคอื่นเพื่อตั้งรัฐบาล แล้วดำรงตำแหน่งนายกฯ กลายเป็นช่องทางให้อำนาจนอกระบบทั้งหลายรวมหัวกันตั้งนายกฯ ของตนเอง และบังคับทางอ้อมให้พรรคการเมืองสนับสนุน

อำนาจนอกระบบของไทยก็ยังเข้มแข็งและเข้ามาแทรกแซงการเมืองกันอย่างไม่ต้องอาย ฉะนั้นหากต้องการนายกฯ คนนอก วิธีการที่น่าเป็นไปได้มากกว่า คือหาทางให้ข้อกำหนดเกี่ยวกับการเลือกตั้งในรัฐธรรมนูญเป็นผลให้ไม่มีทางเกิดเสียงข้างมากเด็ดขาดได้ ความพยายามเช่นนี้มีมาตั้งแต่รัฐธรรมนูญ 2550 เช่นส่วนหนึ่งของวุฒิสมาชิก มาจากการสรรหา แบ่งโซนสำหรับการเลือกตั้งแบบบัญชีรายชื่อ แต่ผลก็คือ เกิดเสียงข้างมากเด็ดขาดในสภาจนได้ จนไม่มีทางออกอื่นแก่อำนาจนอกระบบ เว้นแต่ยึดอำนาจด้วยการรัฐประหาร หลังจากนั้นก็คิดค้นวิธีใหม่ที่คิดว่าจะได้ผลมากกว่าวิธีของ ร.ธ.น.2550 เช่นวิธีเยอรมันปลอมๆ เพื่อทำให้พรรคที่จะได้ที่นั่งในสภากลายเป็นเบี้ยหัวแตก, การทิ้งคะแผนนเสียงของผู้ชนะในเขตเลือกตั้ง แต่เอาคะแนนของผู้แพ้ไปรวมเพื่อเลือกส.ส.บัญชีรายชื่อ, และนับจาก 2550 เป็นต้นมา ก็ไม่ปล่อยให้ ส.ว.มาจากการเลือกตั้งทั้งหมดอีกเลย แม้ไม่ได้ลดอำนาจของ ส.ว.ลงแต่อย่างไร

นายมีชัยและคณะไม่ได้กินเหล็กกินไหลมาจากไหน การอาสามาเป็นผู้ร่างรัฐธรรมนูญภายใต้ คสช. ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของอำนาจนอกระบบ โดยไม่วางโครงสร้างไว้ให้แก่อำนาจนอกระบบจึงไม่น่าเป็นไปได้ แต่ข้อเสนอให้ประชาชนได้เลือกนายกฯ โดยตรง กลับดูจะทำให้อำนาจนอกระบบแทรกแซงการเมืองได้ยากขึ้น จึงส่อว่านายมีชัยและคณะอาจคิดเลิกใช้สภาเบี้ยหัวแตกเป็นช่องทางการแทรกแซงจากอำนาจนอกระบบแล้ว พูดอีกอย่างหนึ่งคือยอมรับว่าเมื่อเลือกตั้ง จะต้องมีพรรคใดพรรคหนึ่งได้เสียงข้างมากเด็ดขาด หรือเกือบเด็ดขาด อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

แต่รัฐบาลและนายกฯ ที่มาจากการเลือกตั้งโดยตรงของประชาชนย่อมไม่น่าจะมีอำนาจบริหารจัดการบ้านเมืองได้มากนัก วุฒิสภาซึ่งมาจากการแต่งตั้งทั้งหมดเป็นข้อเสนอใหม่ของสมุน คสช. และวุฒิสภาจะมีบทบาทอำนาจในการกำกับควบคุมรัฐบาลยิ่งกว่าสภาผู้แทนฯ เสียอีก เช่นปลดนายกฯ ได้จากการลงมติ นอกจากนี้คงมีสถาบันแต่งตั้งอื่นๆ ซึ่งมีอำนาจต่างๆ กันในการกำกับให้รัฐบาลและนายกฯ จากการเลือกตั้งโดยตรงต้องอยู่ในโอวาทตลอดไป (อย่างเดียวกับร่างรัฐธรรมนูญของนายบวรศักดิ์ อุวรรโณ)

แม้กระนั้น ความคิดเรื่องนายกฯ มาจากการเลือกตั้งโดยตรงของประชาชนก็นับเป็นเรื่องน่าอัศจรรย์อยู่นั่นเอง ไม่ใช่เพราะนายกฯ ประเภทนี้จะมีความชอบธรรมสูงขึ้นจนถูกแทรกแซงไม่ได้ เพราะนั่นอาจวางโครงสร้างให้ไม่มีอำนาจจริงอยู่ในมือก็ได้ แต่ที่น่าอัศจรรย์ก็เพราะแนวคิดนี้ แม้มีผู้เสนอมานานกว่า 40 ปีแล้ว แต่ไม่ได้รับการตอบรับจากผู้มีอำนาจเท่าไรนัก มีการแยกระบบเลือกตั้งผู้นำฝ่ายบริหารไว้อย่างตายตัว ดังที่นายวิษณุเพิ่งให้สัมภาษณ์ไปไม่นานนี้ว่า การเลือกผู้นำฝ่ายบริหารโดยตรง เป็นอีกระบบหนึ่งซึ่งเรียกว่าระบบประธานาธิบดี ในขณะที่ระบบรัฐสภาต้องเลือกผู้นำฝ่ายบริหารโดยอ้อม คือผ่านเสียงสนับสนุนส่วนใหญ่ในรัฐสภา ระบอบประชาธิปไตยในทัศนะของนายวิษณุ และชนชั้นปกครองไทยจึงเป็นรูปแบบตายตัว ที่ขาดพลวัติภายในเพื่อปรับเปลี่ยนตัวเองไปตามจินตนาการใหม่ของผู้คน ยกเว้นแต่พลวัติที่จะปรับตัวไปสู่ระบอบไม่ประชาธิปไตยเท่านั้น

แต่ข้อคัดค้านที่ตรงไปตรงมากว่าแบบของนายวิษณุ และได้ยินทั้งจากนักวิชาการและนักการเมือง ก็คือ ถ้าเลือกนายกฯ โดยตรงแล้วจะเอาพระเจ้าอยู่หัวไว้ที่ไหน เพราะผลของการเลือกนายกฯ โดยตรงย่อมกระทบต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ ส่วนกระทบอย่างไรนั้น ยังไม่เคยได้ยินคำอธิบายที่ชัดเจน

ผมคิดว่ามีคำอธิบายได้สองอย่าง หากอธิบายด้วยระบบรัฐสภาแบบนายวิษณุก็คือ เมื่อนายกฯ ได้รับเลือกโดยตรง เขาย่อมได้รับอาณัติโดยตรงจากประชาชน แต่ในหนึ่งสมัยของรัฐสภา อาจมีนายกฯ ได้เกิน 1 คน เช่นพรรครัฐบาลสูญเสียเสียงสนับสนุนในสภาไปจนนายกฯ ต้องลาออก ปัญหาคือคนที่จะเป็นนายกฯ คนต่อไปไม่ใช่คนที่ได้รับอาณัติจากประชาชนโดยตรง ย่อมมีความชอบธรรมน้อยกว่า นายกฯ คนเก่าซึ่งกลายเป็นหัวหน้าฝ่ายค้านไปแล้ว จึงมีพลังขัดขวางการทำงานของนายกฯ คนใหม่ได้มาก แม้ว่าเสียงในสภาจะเป็นรองก็ตาม

จนถึงที่สุดแม้แต่พระบรมราชโองการแต่งตั้งนายกฯ คนใหม่ตามคำแนะนำของประธานสภา ก็ให้น่าสงสัยในสิทธิธรรม เพราะประชาชนได้ให้อาณัติแก่นายกฯคนเก่าไว้แล้ว จะมีอำนาจใดอื่นมาล้มล้างอาณัติโดยตรงจากประชาชนได้อย่างไร

ทางออกที่จะให้ราบรื่นจึงมีอยู่ทางเดียวคือเมื่อนายกฯ ที่ได้รับอาณัติจากประชาชนแพ้เสียงในสภา ก็ต้องยุบสภาจัดเลือกตั้งใหม่เท่านั้น ในสมัยก่อน 2540 ที่การเลือกตั้งไม่ทำให้เกิดเสียงข้างมากเด็ดขาดหรือค่อนข้างเด็ดขาด จึงยิ่งเพิ่มความไร้เสถียรภาพทางการเมืองของไทยขึ้นไปอีก

อีกคำอธิบายหนึ่งซึ่งไม่กล้าพูดกันก็คือ หากนายกฯ มาจากการเลือกตั้งโดยตรง นายกฯ จะเป็นผู้ดำรงตำแหน่งสาธารณะเพียงคนเดียวที่ได้รับอาณัติจากประชาชน เราอาจออกแบบรัฐธรรมนูญให้จำกัดอำนาจของนายกฯ แบบนี้ได้ อย่างที่ประธานาธิบดีสหรัฐก็ถูกจำกัดอำนาจบางอย่างไว้เหมือนกัน แต่ที่เป็นปัญหามากก็คืออำนาจและสถานะของนายกฯ ซึ่งไม่ใช่ประมุขแห่งรัฐ จะขึ้นมามีเท่าหรือเกือบเท่ากับประมุขของรัฐ ในประเพณีไทยถือว่าพระมหากษัตริย์ทรงได้รับอาณัติจากประชาชนเช่นกัน แต่ผ่านอำนาจของประเพณี ไม่ใช่อำนาจจากการลงคะแนนเสียงของประชาชน เท่ากับเราสร้างอำนาจใหญ่สองอำนาจขึ้น ซึ่งเสี่ยงต่อความสับสนในการใช้อำนาจ เช่นพระราชอำนาจในการยับยั้งร่างกฎหมายยังมีอยู่หรือไม่ หากนายกฯ ที่ได้รับอาณัติโดยตรงจากประชาชนเป็นผู้ทูลเกล้าฯ ถวายร่างกฎหมายนั้นเพื่อลงพระปรมาภิไธย

หากประเพณีการเมืองไทยเคยชินกับนายกฯ ที่มาจากการเลือกตั้งโดยตรง ความคิดเรื่องนายกฯ พระราชทานก็ไม่มีที่ให้ได้ผุดได้เกิดในเมืองไทยไปเลยนะครับ

ดังนั้นแทนที่จะเสนอชื่อผู้จะเป็นนายกฯ เพียงคนเดียว นายมีชัยจึงเสนอให้พรรคการเมืองต้องเสนอห้าชื่อ ส่วนหนึ่งก็เพื่อลดความชอบธรรมของการได้อาณัติจากประชาชนโดยตรงลง แต่จะลดได้จริงแค่ไหนก็ยังน่าสงสัยอยู่ ที่สำคัญกว่านั้นก็คือหากพรรคการเมืองเลือกเสนอ 5 ชื่อที่เป็น combination คือเลือกจากคุณสมบัติซึ่งเป็นที่ถูกใจของประชาชนห้าอย่างมาผสมรวมกันเป็นกลุ่มชื่อนายกที่เสนอให้ประชาชนเลือก ปัญหาที่ตามมาก็คือจะแบ่งความชอบธรรมจากอาณัตินั้นอย่างไร คนที่เหลือ 4 คนซึ่งคงได้ดำรงตำแหน่งรองนายกฯ และรัฐมนตรี จะมีฐานะที่หนึ่งในหมู่ผู้เท่าเทียม (primus inter pares) ใน ค.ร.ม.เหมือนกับนายกฯ ร.ม.ต.อื่นจะพูดอะไร ไม่แต่เพียงต้องมองตานายกฯ เท่านั้น ยังต้องมองตา"ที่หนึ่ง"คนอื่นอีก 4 คนด้วย หรือร้ายไปกว่านั้น นายกฯ ต้องการปลดรัฐมนตรีบางคนออก รองนายกฯ บอกปลดไม่ได้ จะทำอย่างไรล่ะครับ

อย่างไรก็ตาม ข้อกังวลที่เกี่ยวกับสถาบันพระมหากษัตริย์ต่อข้อเสนอเลือกนายกฯ โดยตรงนั้น ตั้งอยู่บนสมมติฐานที่ว่าพระมหากษัตริย์อาจก้าวก่ายทางการเมืองได้ ซึ่งเป็นสมมติฐานที่ผิด เพราะตามระบอบรัฐธรรมนูญแล้ว พระมหากษัตริย์ไม่ทรงก้าวก่ายทางการเมืองแต่อย่างใด อาณัติโดยตรงจากประชาชนที่นายกฯ ได้มาจากการเลือกตั้ง จึงไม่กระทบถึงสถานะของพระมหากษัตริย์ในฐานะประมุขแห่งรัฐแต่อย่างไร

ที่น่าอัศจรรย์ก็คือ ข้อขัดข้องในการเลือกนายกฯ โดยตรงว่าอาจกระทบถึงสถานะของพระมหากษัตริย์นั้น คนอย่างนายมีชัยต้องรู้อย่างแน่นอน เหตุใดนายมีชัยจึงยังเสนอให้เลือกนายกฯ โดยตรงอีก

หากคิดว่านายมีชัยเป็นตัวแทนของแกนนำฝ่ายอนุรักษ์นิยม คำถามก็คือคนเหล่านี้กำลังคิดอะไรอยู่เกี่ยวกับสถาบันพระมหากษัตริยไทยในอนาคต

หากคิดว่านายมีชัยถูกเชิญให้เป็นประธานร่างรัฐธรรมนูญ เพื่อตอบสนองแผนการทางการเมืองของคสช. นี่อาจเป็นข้อเสนอแบบด้านไหนเป็นข้างหัวข้างท้ายของไข่ไก่ เพื่อให้เกิดการถกเถียงกันในหมู่ผู้ที่จะมีสิทธิ์ลงคะแนนเสียงในการทำประชามติ โดยไม่ต้องสนใจข้อเสนออื่นซึ่งจะทำให้ฝ่ายอนุรักษ์นิยมสามารถควบคุมการเมืองเบื้องหลัง (เช่นวุฒิสภามาจากการแต่งตั้งทั้งหมด และมีอำนาจถอดถอนรัฐบาลได้)

หากคิดว่านายมีชัยคือตัวนายมีชัยเอง ภารกิจหลักก็คือการนำร่างรัฐธรรมนูญผ่านความเห็นชอบของ คสช.และประชาชนไปให้ได้ จึงต้องสร้างเงื่อนไขที่ทำความพอใจแก่ทั้งสองฝ่าย บางส่วนให้แก่ประชาชน บางส่วนให้แก่คสช. กล้อมแกล้มกันไปจนเป็นที่ยอมรับได้ของทั้งสองฝ่าย และทำให้ คสช.สามารถลงจากอำนาจโดยเปิดเผยเสียที

ส่วนข้อระแวงเรื่องเอาคนนอกเป็นนายกฯ นั้น ผมไม่ค่อยเห็นเหตุเท่าไร หากพรรคการเมืองใดเสนอชื่อคนนอก โดยเฉพาะคนที่สัมพันธ์เกี่ยวข้องกับ คสช. เป็นหนึ่งในห้า แล้วให้ประชาชนตัดสินใจ ก็เอาสิครับ สวนดุสิตโพลก็รายงานแล้วว่าประชาชนไม่ได้รังเกียจ คสช.แต่อย่างไร ฉะนั้นหากประชาชนส่วนใหญ่เลือกพรรคนั้นเพราะเหตุนี้ เราก็ควรยอมรับผลการเลือกตั้งไม่ใช่หรือ

แต่ผมไม่เชื่อว่านายมีชัย ฤชุพันธุ์จะไร้เดียงสาเท่าสวนดุสิต อย่าว่าแต่นายมีชัยเลย แม้แต่ คสช.เองก็ไม่ไร้เดียงสาขนาดนั้น

โดยสรุปก็คือ ข้อเสนอให้เลือกนายกฯ โดยตรงของนายมีชัยและคณะเป็นข้อเสนอที่น่าสนใจมาก ไม่ใช่น่าสนใจที่ตัวข้อเสนอนะครับ แต่น่าสนใจว่าเสนอทำไม ผมตอบไม่ได้ และเดาไม่ถูกเหมือนกัน คงต้องรอเวลาว่าหลังจากข้อเสนอนี้แล้ว จะมีข้อเสนออะไรตามมาอีกเท่านั้น

แหล่งข่าว: 
ประชาไทออนไลน์

เนื้อหาข่าวเป็นการรวบรวมเพื่อการศึกษาวิจัยเท่านั้น อันเป็นประโยชน์ต่อสาธารณะ มิได้นำไปเพื่อการค้าแต่อย่างใด