การเสวนาวิชาการ เรื่อง “กฎหมายคืออะไร : มุมมองทางนิติศาสตร์ รัฐศาสตร์ ประวัติศาสตร์ และปรัชญา” จัดโดยโครงการประกาศนียบัตรบัณฑิตทางกฎหมายมหาชน คณะนิติศาสตร์ ที่ห้องจี๊ด เศรษฐบุตร มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ เมื่อวันที่ 22 พ.ย. มีนักวิชาการมาให้มุมมองที่น่าคิดและติดตาม
อ.นิธิ เอียวศรีวงศ์ นักวิชาการด้านประวัติศาสตร์ กล่าวตอนหนึ่งว่า หลายคนบอกว่า กฎหมายคือคำสั่งของรัฐที่ต้องมีบทลงโทษ ซึ่งความคิดนี้มีพลังในสังคมไทยค่อนข้างสูง ทั้งที่จริงไม่ได้เป็นแบบนั้น เพราะแม้เป็นคำสั่งของรัฐ แต่ต้องตั้งอยู่บนประโยชน์ของคนหมู่มาก ต้องมีหลักการศีลธรรมกำกับตัวกฎหมาย ไม่ได้ดูแค่ตัวอักษรที่เขียนไว้ แต่ต้องดูที่วิธีพิจารณาของศาล การพิจารณาสั่งฟ้องของอัยการ แต่กฎหมายเกิดจากปัจจัยต่างๆ ที่ทำให้คำสั่งของรัฐเป็นกฎหมายได้ ประกอบด้วย
1.ความยินยอมพร้อมใจของผู้ที่ถูกกฎหมายบังคับใช้ และต้องสอดคล้องกับค่านิยมที่คนในสังคมยึดถือ ซึ่งเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา กฎหมายจึงต้องปรับเปลี่ยนตัวเองตลอดเวลา
2.ต้องกระชับ ชัดเจน ต้องใช้วิจารณญาณส่วนตัวของผู้ใช้กฎหมายน้อยที่สุด และกฎหมายกับเสรีภาพต้องเป็นเรื่องเดียวกัน
3.ต้องใช้โดยไม่เลือกปฏิบัติ ถ้าใช้กฎหมายไม่เสมอภาคเท่ากับให้อำนาจใช้กฎหมายแก่คนบางคนเท่านั้น
และ4.ต้องผ่านกระบวนการยุติธรรมที่ยุติธรรม กฎหมายต้องสร้างดุลยภาพของ 2 ฝ่าย ไม่ใช่เรื่องของฝ่ายไหนฝ่ายเดียว
อ.นิธิมองว่า การพังสลายของระบบกฎหมายในประเทศไทย ไม่ได้เพิ่งเกิดขึ้นภายใต้คณะรัฐประหาร แต่เกิดขึ้นมานานแล้ว ดังนั้น ถ้ามีโอกาสควรปฏิรูประบบกฎหมายทั้งหมด ทั้งศาล อัยการ และตำรวจ ซึ่งตนหวังว่าสภาวะเช่นนี้จะเป็นแค่ชั่วคราวที่วันหนึ่งต้องหมดไป
กฎหมายที่จะเป็นกฎหมายได้นั้น ต้องไม่ลืมเรื่องการยินยอม หลายคำสั่ง หลายกฎหมายที่ออกโดยคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ออกมาโดยการเปลี่ยนแปลงไปแล้วของสังคม สังคมก้าวหน้าไปไกลกว่าสิ่งที่คสช.เข้าใจ ดังนั้นตนเชื่อว่าร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ร่างขึ้นมาเพื่อที่จะใช้ได้ไม่นาน
ด้าน อ.เกษียร เตชะพีระ อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า การใช้อำนาจรัฐในสังคมสมัยใหม่ มี 2 วิธีการหลัก คือ 1.การใช้กำลังบังคับ และ2.สร้างความยิมยอมพร้อมใจ ซึ่งทั้ง 2 ส่วนนี้กฎหมายมีส่วนเข้ามาเกี่ยวข้องด้วยการอาศัยกฎหมายมาอ้างให้ความชอบธรรม แต่การจะเกิดหลักนิติธรรมได้ไม่ใช่มีแค่กฎหมาย
เพราะหัวใจของหลักนิติธรรม คือ รัฐบาลที่มีอำนาจจำกัด ไม่ใช่ทำอะไรได้ตามใจชอบ ซึ่งเราจำกัดอำนาจรัฐด้วยสิทธิ เสรีภาพ ของพลเมืองที่ต้องมีเส้นแบ่งจำกัดอำนาจรัฐไว้ในรัฐธรรมนูญ และกฎหมายอื่นๆ ที่ออกโดยผู้แทนโดยชอบของประชาชน ส่วนคนคุมเส้นแบ่งอำนาจรัฐกับสิทธิ เสรีภาพของประชาชน คือ ศาล และตุลาการ ที่ต้องเป็นอิสระ
ดังนั้นกฎหมายต้องมีองค์ประกอบทั้งหมดจึงมีหลักนิติธรรม ไม่ใช่มีแค่กฎหมายที่ออกโดยใครก็ได้ และกฎหมายต้องไร้ช่องโหว่ มีความเป็นกลาง คาดเดาผลล่วงหน้าได้ ไม่ยึดติดบุคคลเชิงรูปแบบ ทำตามหน้าที่ตรงไปตรงมา และต้องไม่คำนึงเรื่องส่วนตัว
อ.เกษียรเสนอว่ากรอบคิดกฎหมายสมัยใหม่นั้น กฎหมายให้ความชอบธรรมกับอำนาจรัฐ แต่ต้องอยู่บนฐานการยอมรับถึงจะมีประสิทธิภาพ นอกจากนี้ ตนเห็นว่าพิมพ์เขียวของหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่ส่งให้คณะกรรมการยกร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) นั้น ในข้อ 7 ที่ระบุว่า การใช้กำลังทหารโดยสุจริต เพื่อความมั่นคงของรัฐจากภัยที่มาจากภายใน และนอกราชอาณาจักร ไม่ต้องรับโทษทางแพ่ง ทางอาญา และทางปกครองนั้น ไม่สอดคล้องกับหลักความชอบธรรม และความสมเหตุสมผลของกฎหมาย
อ.สมภาร พรมทา อาจารย์คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า ทางปรัชญากฎหมายคือสิ่งที่มนุษย์สร้างขึ้น จากการศึกษาพบว่าสำนักกฎหมายบางสำนัก บอกว่าเวลาพิจารณากฎหมายให้พยายามมองโลกในแง่ที่เป็นจริงมากที่สุด ไม่ว่าเราจะชอบหรือไม่ชอบกฎหมายที่ประกาศใช้ เราต้องคำนึงว่ากฎหมายนั้นเป็นของจริงมีผลต่อชีวิตเราจริงๆ
การมีกฎหมายก็ทำให้ชีวิตมนุษย์ปกติสุข เพราะสถานะของกฎหมายยิ่งใหญ่มากๆ ส่วนสภาพการที่เกิดขึ้นขณะนี้ก็กลายเป็นกฎหมายไปแล้ว อย่างไรก็ตาม ผู้มีความรู้ทางนิติศาสตร์ ต้องมีความระมัดระวังที่จะเข้าไปรับใช้อำนาจรัฐ โดยต้องพิจารณาว่าเขามีที่มาอย่างไร
อ.วรเจตน์ ภาคีรัตน์ อาจารย์คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า เวลาเรามองกฎหมายอาจมองได้หลากหลายมิติ แต่มุมมองในทางนิติศาสตร์ กฎหมายคือ กฎเกณฑ์หรือบรรทัดฐานอย่างหนึ่งที่เป็นนามธรรม และใช้บังคับเป็นการทั่วไป และมีกระบวนการในการบังคับใช้
คำถามคือกฎหมายที่ไม่สอดคล้องกับหลักยุติธรรม ควรเป็นกฎหมายหรือไม่ คำสั่งของคณะยึดอำนาจถือว่าเป็นกฎหมายหรือไม่ สิ่งที่เราต้องพิจารณาคือการยึดอำนาจนั้นสำเร็จเกิดประสิทธิภาพขึ้นมาตามความเป็นจริงหรือไม่ เมื่อเจ้าหน้าที่รัฐเชื่อฟังคำสั่งเท่ากับก่อตั้งอำนาจให้คณะรัฐประหารออกกฎเกณฑ์อื่นๆ ได้อีก จึงถือว่าเป็นกฎหมายแล้ว
นอกจากนี้ ปัญหาใหญ่ของคณะรัฐประหารอยู่ที่ตอนลงจากอำนาจ เมื่อพ้นจากอำนาจแล้ว อาจจะถูกรื้อฟื้นกลับมาได้ทั้งสิ้น ในทางกลับกันขอเตือนว่าคนที่ครองอำนาจอยู่อย่าเชื่อนักกฎหมายมากนัก เพราะตอนนี้เขียนอะไรก็เขียนได้