“หอมมะลิ 105” ป่วน! กองทัพมดขนข้าวหอมจังหวัดปนหลอกขายข้ามภาค

ศูนย์ข่าวภูมิภาค - วงการค้าข้าวหอมมะลิ 105 ของอีสานยังปั่นป่วนไม่หยุด พบกองทัพมดใช้กระบะตระเวนซื้อข้าวหอมจังหวัด-ข้าวนาปรังจากพิจิตร เพชรบูรณ์ ยันภาคกลาง มาปลอมปนก่อนหลอกขายเป็นหอมมะลิ จนต้องขึ้นโรงพักแจ้งความ พร้อมขึ้นแบล็กลิสต์ทะเบียนรถต้องสงสัยแจ้งให้ระวังผ่านไลน์กลุ่มกันเป็นระยะ

วันนี้ (23 พ.ย.) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ขณะนี้บรรดาสหกรณ์การเกษตรหลายแห่งในภาคอีสาน โดยเฉพาะสุรินทร์ กำลังปั่นป่วนอย่างหนัก กับขบวนการปลอมปนข้าวที่ออกตระเวนรับซื้อข้าวหอมจังหวัด-ข้าวคุณภาพต่ำจากพิจิตร เพชรบูรณ์ และจังหวัดในภาคกลาง มาผสมข้าวหอมมะลิ 105 ขายให้สหกรณ์ นอกจากจะต้องขึ้นโรงพักแจ้งความแล้ว ยังตั้งกลุ่มไลน์แจ้งทะเบียนรถต้องสงสัยที่ขนข้าวเข้าพื้นที่ด้วย

นางมะลิวัลย์ เย็นเสมอ อายุ 57 ปี ผู้จัดการสหกรณ์การเกษตรเพื่อการตลาดลูกค้า ธ.ก.ส.สุรินทร์ จำกัด เลขที่ 126 ถนนสุรินทร์-สังขะ หมู่ 4 ต.ตาอ็อง อ.เมืองสุรินทร์ ที่มีจุดรวบรวมผลผลิตข้าวหอมมะลิถึง 7 แห่ง รับซื้อข้าวหอมมะลิจากสมาชิกปีหนึ่งๆ ราว 50,000 ตันเศษ เปิดเผยถึงปัญหาข้าวหอมมะลิ 105 ที่มีชื่อเสียงของ จ.สุรินทร์ และภาคอีสาน ว่ามีพ่อค้ารายย่อย ซึ่งเป็นคนภาคอีสาน นำรถกระบะที่มีทะเบียนอยู่ในจังหวัดสุรินทร์, กาฬสินธุ์, ศรีสะเกษ, ร้อยเอ็ด ฯลฯ ออกตระเวนแบบกองทัพมดไปซื้อข้าวหอมจังหวัด และข้าวเปลือกนาปรัง ซึ่งมีคุณภาพต่ำกว่าข้าวหอมมะลิ

จากนั้นพ่อค้ารายย่อยกลุ่มนี้ก็จะนำมาตระเวนหลอกขายตามจุดรับซื้อของสหกรณ์ฯ และท่าข้าวต่างๆ ที่เป็นจุดรวบรวมผลผลิตของชาวนาส่งยังโรงสีขนาดใหญ่ บางครั้งก็นำข้าวหอมจังหวัด และข้าวนาปรัง จากพิจิตร เพชรบูรณ์ ซึ่งข้าวหอมจังหวัดและข้าวนาปรังมีราคาถูกกว่า ผสมกับข้าวหอมมะลิของภาคอีสาน แล้วมาหลอกขายว่าเป็นข้าวหอมมะลิ 105

เมื่อสหกรณ์ฯ และท่าข้าวต่างๆ รับซื้อไว้ นำไปขายอีกทอดหนึ่งยังโรงสีใหญ่ ซึ่งจะถูกตรวจสอบอย่างละเอียดด้วยกระบวนการทางเคมีแล้วปรากฏว่าไม่ผ่านมาตรฐาน ทำให้ส่งผลเสียต่อทางเศรษฐกิจและชื่อเสียงของข้าวหอมมะลิ 105 ของภาคอีสาน

นางสุภานันท์ จงอุตส่าห์ อายุ 45 ปี หัวหน้าสหกรณ์ สกต.เพื่อการตลาดสาขาศีขรภูมิ ที่ต้องตรวจสอบคุณภาพข้าวก่อนการรับซื้อ เล่าให้ฟังว่า ก่อนหน้านี้ได้แจ้งความไว้ที่ สภ.ศีขรภูมิ จ.สุรินทร์ แล้วเหมือนกัน และในกลุ่มผู้รับซื้อข้าวหอมมะลิของภาคอีสานก็มีการรวมตัวเป็นเครือข่ายเพื่อแลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสารทางไลน์ บอกกันต่อๆ มาว่า ขณะนี้เกิดเหตุการณ์ดังกล่าวขึ้น ทำให้รู้ทะเบียนรถกระบะกลุ่มกองทัพมดที่ขนข้าวหอมจังหวัดมาจากพิจิตร และเพชรบูรณ์ มาปลอมปน หรือผสมกับข้าวหอมมะลิแล้วมาหลอกขายว่าเป็นข้าวหอมมะลิ 105 ของสุรินทร์

ล่าสุดเมื่อสุดสัปดาห์ที่ผ่านมาก็มีรถกระบะหลายคันตรงตามที่เครือข่ายโรงสีภาคอีสานแจ้งให้เฝ้าจับตา นำข้าวเข้ามาขายที่สหกรณ์ฯ โดยบอกว่าเป็นข้าวหอมมะลิ 105 ของสุรินทร์ แต่เมื่อดูด้วยสายตาก็เห็นได้ว่าข้าวที่ขนมาน่าจะเป็นข้าวหอมจังหวัด หรือข้าวหอมมะลิเตี้ย จึงได้โทรศัพท์แจ้งความไปยัง พ.ต.ท.สมพงษ์ แก่นจักร หัวหน้าพนักงานสอบสวน สภ.ศีขรภูมิ จ.สุรินทร์ ที่ทางชมรมโรงสีได้มีการประสานงานเอาไว้ล่วงหน้าแล้ว

เมื่อตำรวจมาถึงจึงทำการอายัดข้าวเปลือกดังกล่าวไว้ จากนั้นก็ได้ให้พนักงานจากทางโรงสีเดินทางมาตรวจสอบซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ห้องตรวจสอบคุณภาพของบริษัท อิสเทิร์นไรซ์มิลล์ จำกัด จ.กาฬสินธุ์ ที่นำน้ำยาเคมีมาตรวจ เบื้องต้นก็พบว่าข้าวเปลือกดังกล่าวไม่ใช่ข้าวหอมมะลิ 105 ของสุรินทร์ ตำรวจจึงลงบันทึกแจ้งความเพื่อดำเนินคดีในข้อหา พยายามฉ้อโกง พร้อมอายัดและเก็บตัวอย่างข้าวเปลือกข้าวไว้ เพื่อนำส่งไปตรวจสอบที่ห้องแล็บมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตกำแพงแสน ก่อนดำเนินคดีตามกฎหมายต่อไป

ด้านนายภิญโญ ศักดิ์สยามกุล ผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อบริษัท อิสเทิร์นไรซ์มิลล์ จำกัด เลขที่ 99 หมู่ 2 ต.หัวนาคำ อ.ยางตลาด จ.กาฬสินธุ์ ซึ่งเป็นโรงสีและจุดรับซื้อข้าวรายใหญ่แห่งหนึ่งของภาคอีสาน กล่าวว่า ปัญหาที่เกิดขึ้นได้ทำลายชื่อเสียงของข้าวหอมมะลิ 105 ของภาคอีสาน และของประเทศไทยอย่างรุนแรง

นายภิญโญกล่าวเพิ่มเติมอีกว่า โรงสีของ บริษัท อิสเทิร์นไรซ์มิลล์ จำกัด ในช่วงนี้รับซื้อเฉพาะข้าวหอมมะลิ 105 เท่านั้น มีปริมาณมากถึงวันละกว่า 4,500 ตัน และคาดว่าจากวันนี้ถึงสิ้นเดือนพฤศจิกายน 2558 จะมีปริมาณข้าวเพิ่มขึ้น และภาพโดยรวมข้าวหอมมะลิของภาคอีสานปีนี้น่าจะมีมากขึ้นถึง 20% ส่วนราคารับซื้อข้าวแห้งรับซื้ออยู่ที่กิโลกรัมละ 11-13 บาท ขึ้นอยู่ที่คุณภาพ

“ตอนนี้การรับซื้อข้าวต้องเพิ่มความละเอียดในการตรวจสอบคุณภาพข้าวให้มากขึ้น คือถ้าดูแล้วข้าวหอมมะลิจากรถคันไหนมีข้อสงสัยก็ต้องขอตรวจสอบทางเคมี ซึ่งจะใช้เวลาประมาณ 20-30 นาทีก็จะรู้ผล”

นายภิญโญบอกว่า จะสังเกตได้ว่าเมื่อใช้สารเคมีดำเนินการตามกระบวนการในห้องตรวจสอบแล้ว ถ้าเป็นข้าวหอมมะลิ 105 ของจริงจะมีสีออกชมพู และวัดค่า Amylose ได้สูงกว่า 94% ขึ้นไป (ค่า Amylose คือหน่วยที่ใช้วัดความหอมนุ่มของข้าวคุณภาพที่เป็นมาตรฐานสากล) แต่ถ้าเป็นข้าวหอมมะลิปลอมปนก็จะมีสีม่วงเข้ม ซึ่งถ้าพบแบบนี้ก็จะปฏิเสธการรับซื้อทันที

หมวดหมู่ของข่าว: 
แหล่งข่าว: 
ผู้จัดการออนไลน์

เนื้อหาข่าวเป็นการรวบรวมเพื่อการศึกษาวิจัยเท่านั้น อันเป็นประโยชน์ต่อสาธารณะ มิได้นำไปเพื่อการค้าแต่อย่างใด