วันนี้ (22 พฤศจิกายน 2558) มีงานสัมมนาวิชาการประจำปีการศึกษา 2558 ในหัวข้อ "กฎหมายคืออะไร" ที่ห้อง LT 1 มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ ซึ่งจัดขึ้นโดยหลักสูตรประกาศนียบัตรบัณฑิตทางกฎหมายมหาชน มีการให้ความรู้และมุมมองจากหลากหลายสาขา อาทิ นิติศาสตร์ รัฐศาสตร์ ประวัติศาสตร์ และปรัชญา โดยวิทยากรในงานประกอบด้วย นิธิ เอียวศรีวงศ์, เกษียร เตชะพีระ, สมภาร พรมทา, วรเจตน์ ภาคีรัตน์ และดำเนินรายการโดย ปิยบุตร แสงกนกกุล
ผศ.ดร. ปิยบุตร แสงกนกกุล เริ่มต้นด้วยการกล่าวว่า ในทางนิติศาสตร์ตัวบทกฎหมายไม่ใช่เพียงคำสั่งของรัฐ แต่มีมิติที่มากกว่านั้น ทั้งในทางประวัติศาสตร์ รัฐศาสตร์ ปรัชญา ฯ ซึ่งนั่นคือโจทย์ของวงเสวนาในครั้งนี้ที่จะมาร่วมกันอธิบายว่ากฎหมายคืออะไรในมุมมองต่างๆ
มุมมองประวัติศาสตร์
ศ.ดร.นิธิ เอียวศรีวงศ์ นักคิด นักเขียน และนักด้านประวัติศาสตร์ชื่อดัง ระบุว่า กฎหมายในสังคมรัฐโบราณมักถือเอากฎที่อยู่เหนือกว่าผู้ปกครองมาใช้ในการปกครอง แต่ต่อมาหลักการนี้ถูกปฏิเสธโดยนักคิดกลุ่มปฏิฐานนิยม (Positivism) ที่เชื่อว่ากฎหมายคือคำสั่งของรัฐที่มีประโยชน์ต่อคนหมู่มาก
นิธิ อธิบายต่อว่า แต่บางสำนักอย่างสำนักตีความก็เชื่อว่า กฎหมายเป็นการอธิบายสังคม เพียงแต่การอธิบายนั้นๆจะต้องได้รับความยินยอมจากมวลชน
"แต่การที่คนพูดอะไรไม่ตรงหู(ของผู้มีอำนาจ)แล้วถูกเรียกไปปรับทัศนคติจะเรียกว่าเป็นกฎหมายหรือไม่เพราะหากจะถือว่าเป็นกฎหมายก็ต้องถือว่าสิ่งนี้เป็นคำอธิบายที่ดีที่สุดในสังคมแล้ว" นิธิ กล่าว
นิธิ เสนอว่า คำสั่งของรัฐที่จะเป็นกฎหมายได้ต้องมี 4 ประการ อันได้แก่
1.ความยินยอมพร้อมใจของประชาชน ซึ่งหมายความรวมถึงกฎหมายต้องปรับเปลี่ยนได้ตามบริบทสังคม
2.กระชับและชัดเจน ผู้บังคับใช้กฎหมายต้องใช้วิจารณญาณส่วนตนให้น้อยที่สุด
3.ไม่เลือกปฏิบัติ ต้องมีความเสมอภาคในการบังคับใช้กฎหมาย
และ 4.ต้องผ่านกระบวนการยุติธรรมที่ยุติธรรม
"แต่ภายใต้ระบอบที่คำสั่งไม่ได้เป็นไปตาม 4 ข้อที่ว่ามา เราจะอยู่กันอย่างไร เราอาจหวังให้มันเป็นเรื่องชั่วคราว วันหนึ่งมันจะหมดไป แต่ผมเสนอว่า หากมีโอกาสเราต้องปฏิรูปกฎหมาย ในแง่ที่ว่าต้องปฏิรูปทั้งศาล อัยการ ตำรวจ เรือนจำ เพราะปัญหาของกฎหมายไทยมันแยะมาก" นิธิ กล่าวทิ้งท้าย
มุมมองรัฐศาสตร์
ศ.ดร.เกษียร เตชะพีระ อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า การปกครองในรัฐสมัยใหม่กระทำผ่านสองอย่างคือ การใช้กำลังบังคับ และการสร้างความยินยอมพร้อมใจ
เกษียร ระบุว่า สำหรับการใช้กำลังบังคับของรัฐสมัยย่อมใช้กฎหมายเป็นฐานในการสร้างความชอบธรรม และใช้ความยินยอมของประชาชนเพื่อให้เกิดประสิทธิภาพและประสิทธิผลมากขึ้น
เกษียร อธิบายถึงฐานความชอบธรรมของกฎหมายว่าประกอบด้วยหลักปัจเจกบุคคล และความสมเหตุสมผลของกฎหมายในการปกครอง ซึ่งมองว่าหัวใจหลักของการมีกฎหมายลายลักษณ์อักษรคือการกำกับ กำจัด ควบคุมอำนาจของผู้ทรงอาญาสิทธิ์ในรัฐแบบสมบูรณาญาสิทธิราชย์
"แต่ในสังคมไทยการใช้กฎหมาย แทนที่จะใช้เพื่อกำกับอำนาจของรัฐเพื่อให้ประชาชนมีสิทธิเสรีภาพ แต่กลับใช้เพื่อเสริมอำนาจรัฐ และลิดรอนสิทธิเสรีภาพ" เกษียร กล่าว
เกษียร กล่าวเพิ่มเติมว่า หัวใจของหลักนิติธรรมคือรัฐบาลต้องมีอำนาจจำกัด หรือพูดอีกอย่างว่าต้องไม่ก้าวล้ำเข้าสู่เส้นของสิทธิเสรีภาพพลเมือง
มุมมองปรัชญา
ศ.ดร.สมภาร พรมทา อาจารย์ภาควิชาปรัชญา คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า กฎหมายคือสิ่งที่มนุษย์สร้างขึ้นซึ่งในทางปรัชญามักตั้งคำถามว่าการอยู่ในรัฐที่มีกฎหมายกำกับ แต่หากเราไม่ชอบกฎหมายนั้นๆ เราจะอยู่กับมันได้อย่างไร หรือพูดง่ายๆคือ เราจะอยู่ในรัฐอย่างไรกับกฎหมายที่เราไม่ชอบ
"ข้อดีของปรัชญาคือการอยู่กับสิ่งที่ไม่ชอบ แต่เราจะมีหนทางทำให้มันดีขึ้นได้อย่างไร และยังตั้งคำถามด้วยว่าเราจำต้องอยู่ภายใต้อิทธิพลของมันหรือไม่" สมภาร กล่าว
สมภาร ยกตัวอย่างกฎหมายโดยอิงแนวคิดของสำนักปฏิฐานนิยมว่า การอยู่ในสังคมที่มีกฎหมายกำกับ แม้ว่าเราจะไม่ชื่นชอบกฎหมายนั้นๆ แต่สิ่งสำคัญคือเราต้องอย่าลืมว่า คำสั่งหรือกฎหมายนั้นๆมีอยู่จริง และใช้ได้จริง ซึ่งเราจำต้องยอมรับเพราะมันเป็นของจริงและมีผลจริงต่อชีวิตของเรา
มุมมองนิติศาสตร์
รศ.ดร.วรเจตน์ ภาคีรัตน์ อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เริ่มต้นด้วยการกล่าวติดตลกว่า หากถามว่ากฎหมายคืออะไรก็ขอให้ลองฝ่าฝืนดู แต่เอาเข้าจริงมองว่าคำอธิบายเรื่องกฎหมายคืออะไรยากกว่านั้น เพราะคำถามว่ากฎหมายคืออะไรนั้นถูกตั้งขึ้นกว่า 200 ปีมาแล้วโดยนักปรัชญาชาวเยอรมัน อิมมานูเอล คานท์ ซึ่งจนถึงทุกวันนี้ก็ยังไม่ได้คำตอบที่เป็นอันยุติ
"แต่มองว่าในรัฐสมัยใหม่กฎหมายมีภารกิจมาก ทั้งเพื่อสร้างสันติ ส่งเสริมศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ และสิทธิเสรีภาพ แต่คำถามคือกฎหมายที่ขัดแย้งกับศีลธรรม หรือกฎหมายที่อยุติธรรมจะถือว่าเป็นกฎหมายหรือไม่" วรเจตน์ กล่าว
วรเจตน์ อธิบายต่อถึงกฎหมายในมุมของสำนักคิดกฎหมายบ้านเมือง และสำนักกฎหมายธรรมชาติที่มีความแตกต่างทางความคิดในบางประเด็น เพราะสำนักแรกมองกฎหมายในมุมมองของโลกแบบปรากฏการณ์ แต่สำนักหลังมองโลกในมุมมองทางคุณค่า จนในยุคหลังได้มีนักคิดที่พยายามผนวกรวมเอาสองสำนักนี้มารวมเข้ากันเพื่ออธิบายว่ากฎหมายคืออะไร
"แต่ปัญหาของกฎหมายไทยคือการขัดกันของหลักการผู้มีอำนาจมักเขียนกฎหมายที่ให้ความชอบธรรมกับการกระทำที่ยังไม่เกิดขึ้นซึ่งขัดกับหลักสามัญสำนึกเพราะเป็นการทำให้สิ่งที่ยังไม่เกิดขึ้นในอนาคตชอบด้วยกฎหมาย เลยเสนอว่าต่อไปถ้าจะเอาให้มากกว่านั้น ก็ควรจะเพิ่มต่อไปเลยว่า การกระทำในอนาคตใดๆ(ของผู้มีอำนาจ) ย่อมชอบด้วยกฎหมายทั้งภพนี้และภพหน้า" วรเจตน์ กล่าวทิ้งท้าย