"เครือข่ายคณาจารย์ฯ" ยื่นแถลงการณ์ถึง "บิ๊กตู่" วอนหยุดคุกคามการทำกิจกรรมทางการเมือง-แทรกเนื้อหาเลียทหารในวิชาเรียนมหาลัย เชื่อแก้ปัญหาต้องอาศัยความเห็นทุกฝ่าย ซัด ปิดหู-ปิดตา มีแต่ขัดแย้ง
เมื่อวันที่ 23 พ.ย. 58 ที่ศูนย์บริการประชาชน (ฝั่ง ก.พ.) เครือข่ายคณาจารย์ผู้ห่วงใยศิษย์ที่ถูกคุมขัง ซึ่งนำโดย นายอนุสรณ์ อุณโณ คณบดีคณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ พร้อมด้วยคณาจารย์จำนวนหนึ่งเดินทางมายื่นแถลงการณ์กลุ่มถึง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ หัวหน้าคสช. เรื่องมหาวิทยาลัยไม่ใช่ค่ายทหาร ประเทศไทยไม่ใช่ค่ายกักกัน โดยมี นายสุขสวัสดิ์ สุวรรณวงษ์ หัวหน้าฝ่ายประสานมวลชนเป็นผู้รับเรื่อง
ทั้งนี้ แถลงการณ์ฉบับดังกล่าว มีกลุ่มคณาจารย์ และนักวิชาการอิสระ ทั้งในและนอกประเทศ ลงชื่อสนับสนุนทั้งหมด 323 รายชื่อ เช่น นายเกษียร เตชะพีระ อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ นายวรเจตน์ ภาคีรัตน์ อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ นางนวลน้อย ตรีรัตน์ อาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เป็นต้น
โดย นายอนุสรณ์ กล่าวว่า จากกรณีที่กลุ่มคณาจารย์ได้ออกแถลงการณ์ เมื่อวันที่ 31 ต.ค. ที่ผ่านมา เรื่องมหาวิทยาลัยไม่ใช่ค่ายทหาร ยืนยันในเสรีภาพที่จะแสวงหาความรู้ในการเรียนการสอน จากนั้นถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจตั้งข้อหา ร่วมกันมั่วสุมหรือชุมนุมทางการเมือง ณ ที่ใดๆ ที่มีจำนวนตั้งแต่ห้าคนขึ้นไป อันเป็นการฝ่าฝืนประกาศ หรือคำสั่งของหัวหน้า คสช.
ดังนั้น เครือข่ายจึงขอให้ คสช. หยุดข่มขู่คุกคามอาจารย์ที่แสดงความเห็นทางการเมืองด้วยความบริสุทธิ์ใจ หยุดสั่งห้ามนักศึกษา และประชาชนที่จัดกิจกรรมทางการเมือง และหยุดแทรกแซงการเรียนการสอนในมหาวิทยาลัย ให้มีแนวทางตามที่ คสช.ต้องการ การตั้งข้อหาจำคุกกับคณาจารย์กลุ่มดังกล่าว เป็นการละเมิดสิทธิเสรีภาพและคุกคาม ทั้งที่การกระทำเหล่านั้นเป็นไปด้วยความบริสุทธิ์ใจ ที่ผ่านมากลุ่มคณาจารย์ที่เรียกร้องการปล่อยตัวนักศึกษา และแสดงความเห็นทางการเมือง ยังคงถูกคุกคามอย่างต่อเนื่อง ขณะที่ คสช.ได้สั่งให้บรรจุเนื้อหาในการยกย่องเชิดชูทหารในวิชาหน้าที่พลเมือง ซึ่งขัดกับหลักสิทธิและเสรีภาพโดยสิ้นเชิง การปฏิบัติต่อประชาชนไทยด้วยการปลูกฝังอุดมการณ์หรือความเชื่อหนึ่งๆ เพื่อครอบงำสังคมทั้งหมด ภายใต้โครงสร้างอำนาจของคนบางกลุ่ม ด้วยวิธีการปิดหู ปิดตา บังคับข่มขู่ ด้วยอำนาจที่ไม่เป็นธรรมให้ผู้เห็นต่างยุติการแสดงความเห็น มีแต่จะนำมาซึ่งความขัดแย้ง และไม่สามารถนำสังคมไทยไปสู่ความเสมอภาค เสรีภาพ ประชาธิปไตย ความเป็นธรรม และสันติสุขได้
เมื่อถามว่า การเคลื่อนไหวของกลุ่มคณาจารย์ ที่หลายฝ่ายมองว่าเคลื่อนไหวเพื่อสนับสนุนพรรคการเมืองหรือไม่ นายอนุสรณ์ กล่าวว่า หากไปดูประวัติศาสตร์การเคลื่อนไหวตั้งแต่ปี 2540 เรามีจุดยืนอย่างชัดเจนว่า หากรัฐบาลไหนออกนโยบายที่เอื้อประโยชน์แก่สังคมโดยรวมเราก็สนับสนุน ถ้ารัฐบาลไหนมีนโยบายที่ไม่ถูกต้อง เราก็มีแนวทางที่จะออกมาเคลื่อนไหว หากการชี้ชวนเพื่อให้สาธารณะเห็นว่า ปัญหาที่เรากำลังเผชิญคืออะไรเพื่อแสวงหาทางออกร่วมกันอย่างรอบด้าน ตนไม่เห็นว่าจะเป็นการสร้างความสับสนวุ่นวาย ตรงกันข้ามจะเป็นการช่วยในการแก้โจทย์ที่เผชิญ โดยอาศัยความเห็นจากทุกฝ่ายที่มีส่วนได้ส่วนเสีย