รางลำเลียงมังคุด กึ๋นชาวสวน "บ้านในวง" ลดต้นทุนแถมปลอดภัย

พรชัย เอี่ยมโสภณ

เพื่อพิสูจน์ทราบภูมิปัญญาชาวสวน จึงได้เดินทางเข้าไปที่บ้านในวง ต.ในวงใต้ อ.ละอุ่น จ.ระนอง พื้นที่ที่อยู่ในหุบเขาสูง บนยอดเขาทับสุรินทร์ หลังจากได้รับทราบมีเกษตรกรรายหนึ่ง สามารถคิดค้นวิธีการลำเลียงผลมังคุดลงมาจากสวนที่อยู่บนภูเขาสูงชันลงมาสู่พื้นราบ ด้วยวิธีการที่ประหยัด ปลอดภัย และลดต้นทุนทางอ้อมด้วย

ปรากฏว่าได้พบ "ชั้น ทิศกระโทก" หรือ "ลุงชั้น" พร้อมด้วย "สมชาย ทิศกระโทก" บุตรชาย ผู้เป็นประธานกลุ่มจัดการท่องเที่ยวบ้านในวง ซึ่งมีสวนมังคุดอยู่บนยอดเขาสูงแห่งนี้ ซึ่งทั้งสองระบุว่า พื้นที่บ้านในวงอยู่สูงจากระดับน้ำทะเลราว 200-400 เมตร พื้นที่การเกษตรส่วนใหญ่อยู่ตามเชิงเขา ซึ่งมังคุดที่บ้านในวงจะออกผลผลิตช้ากว่าที่อื่น เนื่องจากได้รับอิทธิพลจาก 2 มหาสมุทร คืออ่าวไทย และอันดามัน โดยมังคุดที่นี่จะมีจุดเด่น คือผิวมันสวย มงกุฎเขียว และไม่เป็นแก้ว คือไม่มียางเข้าไปในเนื้อ ส่วนใหญ่จะขายส่งให้พ่อค้าผู้ส่งออกไปประเทศจีน โดยในช่วงเดือนสิงหาคม-กันยายน จะมีราคาอยู่ที่ประมาณ 80-120 บาท ในปี 2557 ที่ผ่านมาเคยทำราคาขายส่งที่หน้าสวนได้ถึงกิโลกรัมละ 180 บาท

"ลุงชั้น" เล่าให้ฟังว่า หลายปีที่ผ่านมาต้องเสียค่าใช้จ่ายในการเก็บเกี่ยวผลผลิตอยู่ 2 อย่าง คือค่าจ้างเก็บมังคุด และค่าจ้างแบกตะกร้าจากบนเขาลงไปด้านล่าง โดยจ่ายค่าจ้างเก็บตะกร้าละ 100 บาท และค่าจ้างแบกตะกร้าละ 20 บาท ซึ่งในปีไหนที่ผลผลิตออกมาก ค่าใช้จ่ายในส่วนนี้ก็เพิ่มตามไปด้วย ตะกร้าหนึ่งจะมีมังคุดน้ำหนักราว 20 กิโลกรัม พบว่าหลายครั้งที่มังคุดต้องเสียหาย เนื่องจากการเดินพลาดของผู้รับจ้างแบก ซึ่งอาจลื่นและล้มทำให้ผลมังคุดแตก มูลค่าความเสียหายตกตะกร้าละประมาณ 2,000 บาท ซึ่งเราไม่อยากไปเรียกร้องเอาอะไรจากเขา เนื่องจากเป็นช่วงฤดูฝน การเดินก็ลำบาก พื้นที่เชิงเขามีความลื่นมาก

เนื่องจากมังคุดช่วงปลายฤดูมีราคาสูง และได้เห็นความเสียหายที่เกิดขึ้นกับผลผลิตก็นึกเสียดาย ลุงชั้นจึงได้คิดหาวิธีการที่ง่ายๆ ในการที่จะลำเลียงผลมังคุดลงมาจากยอดเขา โดยไม่ให้ผลมังคุดเสียหาย หรือเสียหายน้อยที่สุด จึงได้คิดทำรางลำเลียงโดยอาศัยความเป็นที่ลาดชันของสวนมังคุดให้เป็นประโยชน์ ซึ่งรางที่ทำนี้ก็ทำจากวัตถุดิบภายในสวน เช่น ไม้เสาหลักก็ทำจากกิ่งของต้นมังคุดหรือไม้ไผ่ ตัวพื้นรางทำจากต้นหมาก ส่วนขอบรางด้านข้างก็ทำจากไม้ไผ่ โดยให้รางมีขนาดกว้างกว่าตะกร้าใส่มังคุดเล็กน้อย ความยาวของรางประมาณ 200 เมตร ซึ่งใช้เวลาสร้างราว 3-4 วัน

"หลังจากที่เราเก็บมังคุดเสร็จแล้ว ก็นำเอาผลมังคุดมาใส่ไว้ในตะกร้า แล้วก็ยกตะกร้าไปใส่ไว้ในราง เราจะปล่อยรอบหนึ่งราว 8-10 ตะกร้า โดยจะใช้เชือกผูกตะกร้าให้ติดกันเหมือนขบวนรถไฟ แล้วก็คอยดึงเอาไว้ไม่ให้มันไหลเร็วเกินไป โดยก่อนหน้านี้ลุงเคยใช้ไม้ไผ่ทำเป็นพื้นราง ซึ่งมันลื่นและไหลเร็วเกินไป จึงเปลี่ยนพื้นเป็นต้นหมาก ทำให้เกิดความฝืด ควบคุมความเร็วของการไหลได้ง่ายกว่ามาก สิ่งที่ได้คือความเร็วในการเคลื่อนย้ายผลผลิตลงสู่ด้านล่าง ความเสียหายก็มีน้อยมาก ขณะเดียวกันเราไม่ต้องเสียเงินค่าจ้างแบกตะกร้า ซึ่งหากฤดูกาลหนึ่งเรามีผลผลิต 2,000 ตะกร้า นั่นหมายถึงเราต้องเสียเงินค่าจ้างไป 40,000 บาท ที่สำคัญที่สุดคือเราไม่พบความเสียหายจากการลำเลียงมังคุดลงมาจากยอดเขาอีกเลย" ลุงชั้นกล่าวทิ้งท้ายด้วยสีหน้ายิ้มแย้ม

นี่คือภูมิปัญญาซึ่งเกิดจากการพยายามแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นของชาวสวนมังคุดบ้านในวง ซึ่งนอกจากจะช่วยลดค่าใช้จ่ายแล้ว ยังทำให้มีรายได้เพิ่มขึ้นจากการที่ผลผลิตไม่เสียหายอีกด้วย

หมวดหมู่ของข่าว: 
แหล่งข่าว: 
ประชาชาติธุรกิจ

เนื้อหาข่าวเป็นการรวบรวมเพื่อการศึกษาวิจัยเท่านั้น อันเป็นประโยชน์ต่อสาธารณะ มิได้นำไปเพื่อการค้าแต่อย่างใด