
"พงษ์ลาภ-ไชยพรฯ" วัดฝีมือพาณิชย์ฟื้นตลาดส่งออกข้าวอิหร่าน หลังพ้นมาตรการแซงก์ชั่นทางการเงิน พร้อมเผยก่อนหน้านี้ผู้นำเข้าอิหร่านย่องพบถามสถานการณ์เตรียมนำเข้าข้าวไทย แง้มมีความต้องการนำเข้า 5 แสนตัน
ตามที่ ดร.สุวิทย์ เมษินทรีย์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ จะนำคณะภาครัฐ และเอกชน 53 บริษัทในกลุ่มสินค้าอาหาร วัสดุก่อสร้าง ชิ้นส่วนยานยนต์ และแฟชั่น เดินทางไปจัดเจรจาผลักดันการส่งออก ที่ประเทศอิหร่าน ระหว่างวันที่ 20-25 พฤศจิกายน 2558 ฝ่ายไทยสนใจให้อิหร่านเป็นฐานการผลิตพลังงาน เพื่อความมั่นคง โดยกระทรวงพาณิชย์มีแผนรื้อฟื้นระบบบาร์เตอร์เทรดเจรจาเพื่อขายข้าว และไก่สด แลกเปลี่ยนกับน้ำมัน และขยายตลาดส่งออกยางพาราด้วย พร้อมทั้งเตรียมให้ผู้แทนจากสมาคมธนาคารของทั้งสองฝ่าย ศึกษาลู่ทางการเงิน เพื่ออำนวยความสะดวกในการค้าในอนาคตด้วย
โดยการเดินทางครั้งนี้ จะเป็นการปูทางก่อนที่นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรีฝ่ายเศรษฐกิจ จะนำคณะเดินทางเยือนในช่วง 31 ม.ค.-3 ก.พ. 2559 เนื่องจากตลาดอิหร่านเป็นตลาดที่มีลู่ทางที่น่าสนใจ เพราะรัฐบาลมีแผนการลงทุนโครงการ Project Book ซึ่งเป็นการก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานทั้งสนามบิน ถนน รถไฟฟ้า ท่าเรือ ในระยะ 10 ปี ทั้งนี้ ในช่วง 9 เดือนแรก (ม.ค.-ก.ย.) 2557 ไทยส่งออกไปอิหร่าน 90.63 ล้านเหรียญสหรัฐ และนำเข้า 167.9 ล้านเหรียญสหรัฐ
ผู้สื่อข่าว "ประชาชาติธุรกิจ" ได้สอบถามไปยังบริษัทผู้ส่งออกข้าวไทยหลายรายที่เคยเป็นคู่ค้ากับตลาด อิหร่าน แต่ไม่ได้มีโอกาสร่วมการเดินทางไปฟื้นบาร์เตอร์เทรดครั้งนี้ โดยส่วนใหญ่ให้ความเห็นว่าการฟื้นตลาดยังทำได้ยาก เพราะระบบการชำระเงินยังไม่พ้นการแซงก์ชั่น
นายเสริมศักดิ์ ควรทรงธรรม ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ บริษัทไชยพรไรซ์ แอนด์ฟู้ด โปรดักส์ กล่าวว่า จากการหารือกับบริษัทผู้นำเข้าข้าวอิหร่านที่เดินทางมาเยือนไทย และพบกับผู้ส่งออกหลายรายเมื่อเร็ว ๆ นี้ ได้รับแจ้งว่ามีความต้องการนำเข้าข้าวจากต่างประเทศประมาณ 5 แสนตัน แต่อยู่ระหว่างเจรจากับผู้ส่งออกไทยหลาย ๆ บริษัท โดยยังไม่ได้ตกลงซื้อ อย่างไรก็ตาม มองว่าการฟื้นการส่งออกตลาดอิหร่านยังเป็นไปได้ยาก เพราะระบบการเงินของอิหร่านยังไม่พ้นการคว่ำบาตรทางการเงิน (แซงก์ชั่น) เต็ม 100%
"การฟื้นตลาดอิหร่านยังเป็นไปได้ยาก เพราะตอนนี้ยังไม่พ้นแซงก์ชั่น 100% แต่หวังว่ารัฐบาลจะดำเนินการได้สำเร็จ นอกจากตลาดนี้แล้วรัฐบาลควรเร่งฟื้นตลาดอิรักด้วย เพราะเป็นตลาดส่งออกที่สำคัญของไทย และเคยเป็นตลาดหลักสัดส่วน 50% ของบริษัทไชยพรฯด้วย แต่ขณะนี้ส่งออกไปอิหร่านไม่ได้ บริษัทจึงหันไปทำตลาดอื่น เช่น แอฟริกา ฟิลิปปินส์ ซึ่งยอดส่งออกล่าสุดของบริษัทไชยพรฯ ช่วง 9 เดือนแรกส่งออกได้ 2.7-2.8 แสนตันคาดว่าจนถึงสิ้นปี 2558 จะสามารถส่งออกได้ใกล้เคียง 3 แสนตัน"
นายวันนิวัฒน์ กิติเรียงลาภ รองประธาน บริษัท พงษ์ลาภ จำกัด กล่าวว่าบริษัทไม่ได้เข้าร่วมคณะกระทรวงพาณิชย์ แต่เชื่อว่าหากรัฐบาลสามารถไปเจรจากับรัฐบาลอิหร่านให้เปิดนำเข้าข้าวเพื่อแลกเปลี่ยนกับน้ำมัน (บาร์เตอร์เทรด) ได้สำเร็จจะส่งผลดีกับราคาข้าวในประเทศด้วย
"การเปิดตลาดอิหร่านได้หรือไม่ขึ้นอยู่กับรัฐบาลมีกลไกพิเศษอะไรไปดีล เอกชนพร้อมสนับสนุนเต็มที่ ตอนนี้ความเป็นไปได้ยังไม่เกิดแต่อยู่ที่รัฐบาล ปีนี้หรือปีหน้าจะนำเข้าได้หรือไม่ตอบไม่ได้เพราะเหนือการควบคุมของเอกชน"
นายวันนิวัฒน์กล่าวว่า ขณะนี้ผู้ส่งออกไทยไม่ได้ส่งออกไปตลาดอิหร่าน หลังจากเกิดปัญหาสหประชาชาติคว่ำบาตรทางการเงิน (แซงก์ชั่น) ทำให้สูญเสียตลาดข้าวระดับพรีเมี่ยมไป โดยในอดีตอิหร่านเคยนำเข้า "ข้าวขาว 100%" เกรดพรีเมี่ยมจากไทยไม่ต่ำกว่าปีละ 4-5 แสนตัน เพื่อนำไปให้ประชาชนระดับกลางและระดับล่างบริโภค ส่วนประชาชนระดับบนนิยมข้าวบาสมาติจากอินเดีย แต่หลังถูกแซงก์ชั่นอิหร่านก็นำเข้าจากอินเดียเพิ่มขึ้น ทั้งที่ราคาข้าวบาสมาติแพงกว่าราคาข้าวไทย สะท้อนว่าตลาดนี้ไม่ได้มีปัญหาเรื่องระบบการเงินแต่มีปัญหาเพียงแค่วิธีการ ชำระเงินเดิมผู้ส่งออกเคยพยายามจะขายโดยกำหนดราคาเป็นเงินหยวน แต่ก็ทำไม่สำเร็จ
"เมื่อเร็ว ๆ นี้ บริษัทผู้นำเข้าอิหร่านได้เดินทางมายังประเทศไทย พบกับผู้ส่งออกไทยประมาณ 10 บริษัท โดยหารือเป็นแบบทวิภาคีทีละบริษัท ซึ่งบริษัทพงษ์ลาภได้พบกับผู้นำเข้าดังกล่าวด้วย โดยทางอิหร่านสอบถามสถานการณ์ข้าวของไทย เพื่อนำไปประเมินก่อนที่จะสั่งซื้อ เพราะในช่วงหลายปีที่ผ่านมาอิหร่านปรับระบบการนำเข้าข้าวเปิดกว้างให้เอกชน เป็นผู้นำเข้าแทนหน่วยงานของรัฐบาล (GCC) ได้มากขึ้น แต่ยังมีเงื่อนไขที่จะต้องให้หน่วยงานรัฐบาลอิหร่านเข้ามาตรวจสอบความพร้อม ด้านสุขอนามัยของโรงงานไทยก่อนจะเปิดนำเข้า"