การประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียน หรือ "อาเซียน ซัมมิต" ครั้งที่ 27 ระหว่างวันที่ 18-22 พ.ย. ที่กรุงกัวลาลัมเปอร์ของประเทศมาเลเซีย ถือว่าเป็นการประชุมครั้งสำคัญ โดยผู้นำของประเทศที่มีความร่วมมือเกี่ยวข้องกับอาเซียน โดยเฉพาะ ประธานาธิบดีบารัก โอบามา ของสหรัฐ และนายกรัฐมนตรีหลี่ เค่อเฉียงของจีน จะเดินทางเข้าร่วมหารือในการประชุมครั้งนี้ด้วย
นอกจากนี้การประชุม ครั้งนี้ยังมีความสำคัญในฐานะ "การประชุมระดับผู้นำอาเซียนครั้งสุดท้าย" ก่อนที่ชาติสมาชิกอาเซียนจะเข้าสู่ความร่วมมือในระดับที่เข้มข้นมากขึ้นใน ขั้นต่อไป ในฐานะ "ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน" ในช่วงสิ้นปีนี้
ก่อนหน้าการประชุมอาเซียน ซัมมิตที่กรุงกัวลาลัมเปอร์ ผู้นำ 21 ชาติในเอเชีย-แปซิฟิก เพิ่งเสร็จสิ้นการเข้าร่วมประชุมในกรอบ "ความร่วมมือทางเศรษฐกิจเอเชีย-แปซิฟิก" (Asia-Pacific Economic Cooperation : APEC) ที่กรุงมะนิลาของฟิลิปปินส์ ซึ่งในการประชุมครั้งนี้ ประเด็นที่เข้ามามีบทบาทที่สำคัญมากที่สุดหนีไม่พ้นเรื่องข้อพิพาทบริเวณ ทะเลจีนใต้ หลังสหรัฐประกาศให้ความช่วยเหลือทางด้านกำลังทหารแก่พันธมิตรใกล้ชิดใน ภูมิภาค ซึ่งส่วนใหญ่เป็นคู่พิพาทกับจีน
โดยในการเดินทางเยือน ฟิลิปปินส์ ประธานาธิบดีโอบามาได้ประกาศมอบความช่วยเหลือด้านความมั่นคง มูลค่ากว่า 250 ล้านดอลลาร์ ให้กับฟิลิปปินส์ เวียดนาม อินโดนีเซีย และมาเลเซีย ส่งผลให้ทางการจีนออกมาตอบโต้ว่า รัฐบาลสหรัฐกำลังดำเนินการทางการทูตที่ยุยงให้เกิดความขัดแย้ง และส่งเสริมให้ชาติอาเซียนแข็งขืน-ท้าทายสิทธิในการถือครองพื้นที่ในทะเลจีน ใต้ของจีน
การ "เฉือนคม" ระหว่าง 2 มหาอำนาจส่งผลกระทบต่อความมั่นคงภายในของภูมิภาคอาเซียน โดยในการประชุมระดับรัฐมนตรีกลาโหมอาเซียน เมื่อช่วงต้นเดือน พ.ย.ที่ผ่านมา ที่ประชุมล้มเหลวที่จะประกาศแถลงการณ์ร่วมถึงจุดยืนในการแก้ปัญหาในทะเลจีน ใต้ ทำให้หลายฝ่ายตั้งข้อสังเกตถึงอิทธิพลของจีนที่กำลังแทรกแซงสถานการณ์อยู่ เบื้องหลัง และความล้มเหลวแบบเดียวกันน่าจะเกิดขึ้นอีกครั้งในการประชุมอาเซียน ซัมมิตในครั้งนี้
เดนนี รอย จากสถาบันอีสต์-เวสต์ เซนเตอร์ ของสหรัฐ ระบุว่า ความล้มเหลวในการรวมตัวกันเป็นหนึ่งของอาเซียนนั้น เป็นสิ่งสะท้อนอิทธิพลจีนที่เพิ่มขึ้นในภูมิภาค หลังประสบความสำเร็จในการขัดขวางการออกแถลงการณ์ถึงจุดยืนในเรื่องข้อพิพาท ทะเลจีนใต้ ในการประชุมระดับผู้นำอาเซียนเมื่อปี 2555 ที่กัมพูชา โดยนายรอยเชื่อว่า จีนจะเดินหน้าปฏิเสธการหารือในเรื่องทะเลจีนใต้กับสมาชิกอาเซียนในฐานะกลุ่ม ก้อนเดียวกัน แต่จะหันไปดำเนินนโยบายการทูตแบบ "หลังบ้าน" และหารือแบบทวิภาคีกับคู่พิพาทเป็นรายประเทศไป
แม้ว่าประเด็นข้อ พิพาทในทะเลจีนใต้จะเป็นเรื่องใหญ่ แต่ดูเหมือนว่าเจ้าภาพมาเลเซียจะพยายามดึงประเด็นเศรษฐกิจให้เป็นศูนย์กลาง ของการหารือในเวทีอาเซียน ซัมมิตเสียมากกว่า โดย ดาตุก เสรี มุสตาปา โมฮัมเหม็ด รัฐมนตรีด้านการค้าและอุตสาหกรรมของมาเลเซียระบุก่อนหน้าการหารือระดับผู้นำ อาเซียนว่า "ปัญหาการเมืองเป็นเพียงส่วนหนึ่งของความร่วมมือที่เป็นปัญหา และประเด็นเศรษฐกิจควรเป็นประเด็นที่ไม่ถูกละเลยในการหารือ"
ในการประชุมอาเซียน ซัมมิตในครั้งนี้ ผู้นำชาติสมาชิกอาเซียนมีกำหนดการที่จะลงนามในคำประกาศความร่วมมือที่สำคัญ 2 ฉบับ ได้แก่ (1) การจัดตั้งประชาคมอาเซียนในวันที่ 31 ธันวาคมนี้ และ (2) ข้อตกลงในการวางแผนการดำเนินงานของอาเซียนในช่วงปี 2559-2569
โดยดาตุก เสรี อนิฟาห์ อามาน รัฐมนตรีต่างประเทศมาเลเซียระบุว่า แผนการดำเนินงาน 10 ปีของอาเซียนนั้น จะได้รับการพิจารณาทุก ๆ 2 ปี เพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์ที่แท้จริง โดยมาเลเซียต้องการส่งเสริมให้ชาติสมาชิกเดินหน้าไปพร้อมกันในแนวทางที่ "สอดคล้องกันทางการเมือง บูรณาการร่วมกันทางเศรษฐกิจ มีความรับผิดชอบต่อสังคม ยึดมั่นในระเบียบและกติกา มุ่งส่งเสริมภาคประชาคม"
นาย มุสตาปาระบุว่า "การเป็นเออีซีจะเป็นการเดินทางร่วมกันระหว่างชาติสมาชิก ในการขจัดอุปสรรคทางเศรษฐกิจต่าง ๆ เช่น ข้อกีดกันทางการค้าที่ไม่ใช่ภาษี นโยบายทางด้านการค้าที่สอดคล้องกัน และการพัฒนาการเคลื่อนย้ายสินค้าและบริการอย่างเสรีในภูมิภาค ตลอดจนการพัฒนาภาคธุรกิจขนาดกลางและขนาดเล็ก ให้ปรับตัวรับมือ AEC และผลกระทบที่จะเกิดขึ้นหลังปี 2558"
ซึ่งสอดคล้องกับความเห็นจาก ภาคธุรกิจ เช่น ดร. เหยา คิม เลง นักเศรษฐศาสตร์ที่ระบุว่า มาเลเซียในฐานะประธานอาเซียนควรจะต้องผลักดันการเปลี่ยนแปลงที่เป็นรูปธรรม โดยเฉพาะในเรื่องการปฏิบัติตามข้อตกลงของชาติสมาชิกมากขึ้น
ขณะที่ นายแอนโธนี เนลสัน ผู้อำนวยการหอการค้าสหรัฐ-อาเซียน ก็ระบุว่า "อาเซียนกำลังพัฒนาสู่การเป็นตลาดร่วมในช่วงปลายปีนี้ ซึ่งแม้ว่าจะมีข้อตกลงบางส่วนที่ได้รับการยอมรับแล้วในประเทศสมาชิก เช่น เรื่องการเคลื่อนย้ายแรงงาน แต่ภูมิภาคอาเซียนยังมีงานต้องทำอีกมาก เพื่อนำข้อตกลงที่ได้ไปปฏิบัติใช้จริง"