พ.ร.ก.ประมงทุบอาหารแปรรูป อำนาจล้นฟ้าถึงขั้นปิดโรงงาน

พ.ร.ก.การประมงแผลงฤทธิ์ใส่โรงงานแปรรูปสัตว์น้ำ ใช้แรงงานผิดกฎหมายโทษรุนแรงถึงขั้นปิดโรงงาน ชาวประมงโวยรัฐห้ามโอนใบอนุญาตทำการประมง ชี้ละเมิดรัฐธรรมนูญในการประกอบอาชีพ ห้ามโอนใบอนุญาตอีก

จากการ ที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) ผ่านพระราชกำหนดการประมง พ.ศ. 2558 เพื่ออุดช่องว่างพระราชบัญญัติการประมง พ.ศ. 2558 ที่ไม่มีบทบัญญัติและบทลงโทษเกี่ยวกับการทำประมงผิดกฎหมาย ไร้การรายงานและไร้การควบคุม (IUU) และประกาศในราชกิจจานุเบกษามีผลบังคับใช้ในวันที่ 14 พ.ย.ที่ผ่านมานั้น

นายมงคล สุขเจริญคณา ประธานหอการค้าจังหวัดสมุทรสงคราม และรองประธานสมาคมการประมงแห่งประเทศไทย เปิดเผย "ประชาชาติธุรกิจ" ถึงประเด็นใหม่ที่ก่อให้เกิดความวิตกกังวลในกลุ่มผู้ประกอบอาชีพชาวประมงและ โรงงานแปรรูปสัตว์น้ำว่า พ.ร.ก.ฉบับนี้ค่อนข้างเข้มงวดและละเมิดสิทธิ์ในการประกอบอาชีพ อาทิ มาตรา 44 เรื่องการห้ามโอนใบอนุญาตทำการประมง ใบอนุญาตชื่อใดต้องเป็นชื่อผู้นั้นตลอดไป ยกเว้นบุพการีหรือผู้สืบสันดาน แม้จะประสบปัญหาทำประมงขาดทุนก็เลิกไม่ได้ อยากขายไปประกอบอาชีพอื่นก็ไม่ได้ จึงเข้าข่ายละเมิดสิทธิ์การประกอบอาชีพตามกฎหมายรัฐธรรมนูญ ล่าสุดประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ฉบับที่ 42 วันที่ 17 พ.ย.นี้ ก็ออกประกาศห้ามโอนใบอนุญาตทำการประมงอีก

ขณะที่มาตรา 11 ผู้ประกอบการโรงงานแปรรูปสัตว์น้ำ หากใช้แรงงานผิดกฎหมายต่ำกว่า 5 คน จะถูกปิดโรงงานสูงถึง 10-30 วัน หากมีการใช้แรงงานผิดกฎหมายเกิน 5 คน จะถูกปิดโรงงานตลอดไป ซึ่งโรงงานต้องลงทุนค่อนข้างสูง หากมีการกลั่นแกล้งกันก็จะเกิดความเสียหายค่อนข้างสูง นอกจากนี้ หากมีการกระทำผิดซ้ำภายใน 3 ปี จะต้องถูกปิดกิจการอย่างถาวร

นอกจาก นี้ ยังห้ามขนถ่ายปลากลางทะเล ยกเว้นการขนถ่ายปลาลงเรือขนถ่ายที่ถูกต้องตามกฎหมาย ประเด็นนี้ชาวประมงต่างลงความเห็นว่า จะทำให้ธุรกิจการทำประมงของไทยที่เป็นอุตสาหกรรมแถวหน้าที่แข็งแกร่งของ ประเทศ ทำเงินหลายแสนล้านบาทต่อปี จะถอยหลังเข้าคลอง เพราะทำให้เรือประมงต้องมีต้นทุนสูงในการวิ่งเรือกลับมาขนถ่ายปลาที่ท่า เทียบเรือบนฝั่งแล้วออกไปจับปลาใหม่ อีกทั้งการที่ไทยจะเป็นฮับอาหารทะเลของกลุ่มประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (เออีซี) จะลางเลือน ดังนั้น รัฐต้องแก้ปัญหาส่งเจ้าหน้าที่มาเฝ้าตรวจนับการขนถ่ายจะดีที่สุด หรือจัดหาเรือขนถ่ายปลามาอำนวยความสะดวกให้ชาวประมง

ประเด็นสุดท้าย คือ มาตรา 169 ที่กำหนดค่อนข้างครอบจักรวาลว่า ผู้ที่กระทำความผิดตามกฎหมายนี้ เจ้าพนักงานตามกฎหมาย มีสิทธิ์พิจารณาริบเครื่องมือทำประมง สัตว์น้ำ อุปกรณ์หรือเรือประมงได้ ซึ่งฝ่ายกฎหมายที่ยกร่างกฎหมายนี้ขึ้นมา ดำเนินการเช่นนี้ได้อย่างไรกัน อีกทั้งชาวประมงยังค่อนข้างสับสนกับประกาศ คสช.ฉบับล่าสุดว่าขนาดตาข่ายก้นถุงอวนลากขนาด 5 ซม.ที่เลื่อนไปใช้สิ้นปีนี้ ซึ่งขัดกับ พ.ร.ก.การประมงที่ให้อำนาจอธิบดีเป็นผู้กำหนดขนาดตาข่ายก้นถุงอวนจับปลา และยังไม่กำหนดออกมา ชาวประมงจะต้องปฏิบัติอย่างไรกันแน่ นายมงคลกล่าว

ผู้สื่อข่าว "ประชาชาติธุรกิจ" รายงานว่า เมื่อวันที่ 17 พ.ย.ศกนี้ นสพ.ศักดิ์ชัย ศรีบุญซื่อ รองปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยภายหลังติดตามการปฏิบัติงานแก้ไขปัญหาการทำประมงผิดกฎหมาย (IUU-Fishing) ของกรมประมง ที่จังหวัดสมุทรสาครว่า รัฐบาลได้มีการประชุมหารือเพื่อติดตามการแก้ไขปัญหาประมงไทยมาอย่างต่อ เนื่อง โดย พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้เน้นย้ำให้ความสำคัญในการแก้ไขปัญหาดังกล่าว โดยเฉพาะการเฝ้าระวังควบคุมระบบติดตามเรือประมงที่เข้าและออกทะเล ว่ามีการดำเนินการอย่างถูกต้องตามระเบียบหรือไม่ ซึ่งต้องเร่งสร้างความเชื่อมั่นให้ประเทศคู่ค้าเห็นว่า สินค้าประมงไทยที่จับมานั้นเป็นสินค้าที่ถูกต้องตามกฎระเบียบมาตรฐานสากล ซึ่งกระทรวงเกษตรฯโดยกรมประมง ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องภายใต้ศูนย์บัญชาการแก้ไขปัญหาการทำประมงผิด กฎหมาย(ศปมผ.) จะต้องดำเนินการอย่างเข้มงวด ทั้งการดำเนินการขึ้นทะเบียนเรือ การติดตามระบบ VMS รวมทั้งการขอใบอนุญาตต่าง ๆ เพื่อทำการประมงให้ถูกต้องตามขั้นตอน

นสพ.ศักดิ์ ชัยกล่าวต่อไปว่า ได้รับรายงานการปฏิบัติงานจากศูนย์ควบคุมการแจ้งเรือ เข้า-ออก Port In-Port Out Control Center (PIPO) จ.สมุทรสาครว่า ได้มีการตรวจสอบเรือประมงที่จะเข้าออกทะเลอย่างเข้มงวด โดยเรือที่จะได้รับอนุญาตให้เข้าออกได้นั้นต้องผ่านการตรวจสอบในขั้นตอนต่าง ๆ อย่างถูกต้องครบถ้วนทั้ง 13 รายการ

สำหรับมาตรการที่จะดำเนินการ ต่อไปคือ การบูรณาการร่วมกับกระทรวงแรงงาน กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อผลักดันให้การเข้ามาของแรงงานประมงต่างด้าวเป็นไปอย่างถูกกฎหมาย โดยหากตรวจสอบพบข้อมูลแรงงานประมงที่ไม่ถูกกฎหมายจะต้องเร่งประสานงาน ระหว่างกันเพื่อหาแนวทางแก้ไขปัญหา อย่างไรก็ตาม จะไม่มีการผลักดันให้แรงงานประมงต่างด้าวที่ผิดกฎหมายกลับประเทศต้นทาง แต่จะดำเนินการให้แรงงานดังกล่าวมีการขึ้นทะเบียนอย่างถูกต้องตามกฎหมาย

นอกจากนี้จะคุมเข้มด้านสุขอนามัยของสินค้าประมง เพื่อให้ได้คุณภาพและมาตรฐาน โดยสุ่มตรวจสินค้าประมงเพื่อดูปริมาณสารตกค้างที่มากับสัตว์น้ำ รวมทั้งติดตามกระบวนการผลิตสินค้าสัตว์น้ำแปรรูปของบริษัทเอกชน โดยตรวจกระบวนการผลิตของโรงงาน รวมทั้งกระบวนการควบคุมตรวจสอบการนำเข้าวัตถุดิบสินค้าสัตว์น้ำให้เป็นไปตาม มาตรฐานสากล เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้กับประเทศคู่ค้าและเพิ่มสัดส่วนทางการตลาดประมง ไทยให้เพิ่มขึ้น

หมวดหมู่ของข่าว: 
แหล่งข่าว: 
ประชาชาติธุรกิจ

เนื้อหาข่าวเป็นการรวบรวมเพื่อการศึกษาวิจัยเท่านั้น อันเป็นประโยชน์ต่อสาธารณะ มิได้นำไปเพื่อการค้าแต่อย่างใด