
อธิบดีกรมประมงแจงไทยต้องทำให้ดีที่สุดในการแก้ไขการทำประมงผิดกฎหมาย ก่อนอียูจะให้หรือยกเลิกใบเหลืองเดือนหน้านี้ เผยเร่งแก้ไขฐานข้อมูลจากหลายหน่วยงานและสร้างระบบตรวจสอบย้อนกลับสินค้า เพิ่มความเข้มข้น
ดร.วิมล จันทรโรทัย อธิบดีกรมประมง เปิดเผย "ประชาชาติธุรกิจ" ถึงกรณีสหภาพยุโรป (อียู) จะให้หรือยกเลิกใบเหลืองต่อไทยในข้อกล่าวหาว่าทำประมงผิดกฎหมาย ไร้การรายงานและไร้การควบคุม (IUU) และจะมีตัดสินในเดือนหน้าว่า ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องต้องทำให้ดีที่สุด และเป็นไปตามกติกากันระหว่างประเทศ และเป็นความรับผิดชอบของภาครัฐที่ต้องดำเนินการตามกฎหมาย ไทยต้องทำตัวเองให้ดีที่สุด ผลจะเป็นอย่างไรก็ต้องขึ้นอยู่กับการประเมินของอียู
สำหรับประเด็น การดำเนินการของฝ่ายไทย ก่อนอียูจะมาตรวจสอบในเดือนธันวาคมนี้ ดร.วิมลกล่าวว่า หน้าที่ของไทยในขณะนี้ ต้องปฏิบัติตัวให้มีมาตรการที่ดีที่สุดทุกด้าน ในการที่จะทำให้ทรัพยากรสัตว์น้ำมีความยั่งยืน สิ่งที่ต้องแก้ไขเรื่องการทำประมงที่เหลืออยู่ ประกอบด้วย
1.ไทยมี ฐานข้อมูลอยู่หลายฐาน หลายหน่วยงาน ซึ่งข้อมูลต่าง ๆ เหล่านี้อาจจะยังไม่ได้เป็นระบบฐานข้อมูลเดียวกันที่เอามาตรวจสอบระหว่างกัน เช่น เรือลำหนึ่งเวลาที่ออกทำการประมงจะมีเอกสารหลักฐานอยู่หลายชนิดที่ใช้ประกอบ การทำการประมง ถ้าหลายหน่วยงานของไทยที่เกี่ยวข้องยังทำงานแยกส่วนกันอยู่ ก็จะไม่ทราบว่าหลักฐานของหน่วยงานของตนเองถูกต้องหรือไม่ หลักฐานของหน่วยงานอื่นถูกต้องหรือไม่ ต้องสร้างระบบเชื่องโยงข้อมูลกันเพื่อตรวจสอบระหว่างกันเอง มีการลิงก์กันเป็นฐานข้อมูลสามารถตรวจสอบ เช็กกันได้ ต้องตรวจสอบระหว่างหน่วยงานกันได้
2.จะต้องมั่นใจว่าสินค้าประมงไทย เป็นสินค้าที่ได้มาจากการทำการประมงที่ถูกต้องตามกฎหมาย ต้องรู้ที่มาที่ไปก่อนที่จะนำไปแปรรูปในกระป๋องหรือผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ ว่าต้นทางถูกต้องไหม เพราะถ้าต้นทางถูกต้อง ปลายทางก็ต้องถูกต้อง เพราะฉะนั้นประเด็นที่สำคัญตรงนี้คือว่า ไทยจะต้องสร้างระบบการตรวจสอบย้อนกลับว่าสินค้าที่มาจากต้นทางมันไหลไปไหน บ้าง ว่ามาจากทะเลหรือที่ใดบ้าง ต้องตามได้ถึงโปรดักต์สุดท้าย ถ้าไม่รู้ที่มาที่ไปว่ามาจากไหนก็ไม่น่าเชื่อถือ
3.การเพิ่มความเข้มข้นในการเฝ้าระวังไม่ให้มีการทำประมงผิดกฎหมายมากขึ้น
สำหรับ ความคืบหน้าในการแก้ปัญหาการทำประมงผิดกฎหมาย (IUU) ของฝ่ายไทยที่อียูเรียกร้องให้เร่งแก้ไขนั้น อธิบดีกรมประมงกล่าวว่า คณะรัฐมนตรีได้ผ่านเอกสาร 3 ฉบับไปแล้วเมื่อต้นเดือนที่ผ่านมา ฉบับแรกคือกฎหมายเรื่องของ พ.ร.ก.ประมงก็มีผลบังคับใช้แล้วเมื่อวันที่ 14 พฤศจิกายนที่ผ่านมา อีก 2 ฉบับคือเรื่องของแผนบริหารจัดการประมง อีกฉบับหนึ่งก็เป็นแผนปฏิบัติการในการควบคุมป้องกัน IUU ในเรื่องของ พ.ร.ก.เป็นกรอบกฎหมายที่วางแนวทางในการควบคุมการทำประมงให้เป็นไปอย่างถูก ต้อง รวมถึงวิธีการกำหนดให้คำนึงถึงมาตรฐานสากล หรือข้อผูกพันระหว่างประเทศมากขึ้น เนื้อหาสาระของกฎหมายนี้คือควบคุมและให้เรือประมงจับปลาทั้งหลายดำเนินการไป อย่างสมดุล ระหว่างทรัพยากรที่มีอยู่จริงกับการทำการประมง
ส่วนแผน บริหารจัดการประมงฉบับที่ 2 มีสาระสำคัญคือ การประมงแบบเดิมที่อยู่บนพื้นฐานของการทำการประมงแบบการเข้าถึงได้ โดยไม่มีการควบคุม จะถูกเปลี่ยนไปเป็นการเข้าถึงได้ โดยมีการควบคุม พูดง่าย ๆ คือการที่จะจับปลาจะดูจำนวนทรัพยากรสัตว์น้ำที่มีอยู่จริงและเรือที่มาทำการ ประมงในแต่ละปี หรือชั่วโมงทำการประมงที่ทำได้จริงในแต่ละปี เพื่อให้เกิดสมดุลกับทรัพยากรสัตว์น้ำ ประการต่อมาคือ ในเชิงป้องกันการทำประมงผิดกฎหมาย เวลาที่เรือจะออกไปทำการประมง ต้องได้รับการอนุญาต ระหว่างการทำประมง ต้องติดตามตรวจสอบเฝ้าระวัง หรือเมื่อไปทำการประมงประเทศเพื่อนบ้าน กลับมาแล้วต้องตรวจสอบที่มาของสัตว์น้ำ สัตว์น้ำมีชนิดอะไรบ้าง พูดง่าย ๆ ว่า มีการเก็บข้อมูลเป็นระบบมากขึ้น และข้อมูลจะเป็นส่วนสำคัญมากของแผนบริหารจัดการประมง
ส่วนสาระในแผน ปฏิบัติการควบคุมและป้องกันการทำประมงผิดกฎหมาย (IUU) แผนจะมีมาตรการว่า หากเรือไทยไปทำประมงในที่ต่าง ๆ ทั้งในและนอกน่านน้ำไทย จะต้องปฏิบัติตามกฎหมายไทยและสากลอย่างไรบ้าง มีวิธีการรายงานต่อทางราชการอย่างไร อันนี้เป็นแผนของรัฐที่เป็นเจ้าของธง ในฐานะที่ไทยเป็นรัฐชายฝั่ง ต้องมีหน้าที่ควบคุมหรือว่าเรือต่างประเทศที่จะเข้าในไทยเป็นเรือ IUU หรือไม่ ก็มีระบบที่จะติดตามตรวสอบที่มาที่ไปของสินค้าที่จะนำเข้ามา ต้องขอดูบันทึกการเดินเรือ บันทึกของการขนถ่ายสินค้าที่ท่าเรือก่อนจะเข้ามาในประเทศไทย ทั้งนี้ทั้งนั้น เพื่อป้องกันสินค้าผิดกฎหมายเข้ามาในไทย อธิบดีกรมประมงกล่าว