
กระทรวงพาณิชย์ เตรียมประมูลข้าวสารคุณภาพต่ำในสต็อกของรัฐรวม 37,412.68 ตัน หวังลดภาระค่าใช้จ่ายในการดูแลของภาครัฐ
นางสาวชุติมา บุณยประภัศร ปลัดกระทรวงพาณิชย์ กล่าวว่า การระบายข้าวที่ไม่ตรงตามมาตรฐานและข้าวผิดชนิดในสต็อกของรัฐเข้าสู่อุตสาหกรรม เป็นแนวทางการระบายที่คณะกรรมการนโยบายและบริหารจัดการข้าว (นบข.) ในการประชุมครั้งที่ 4/2558 เมื่อวันที่ 1 กรกฎาคม 2558 มีมติให้เริ่มดำเนินการมาตั้งแต่ช่วงเดือนกรกฎาคม 2558 แต่เนื่องจากมีกระแสวิพากษ์วิจารณ์จากหลายฝ่ายในมุมมองต่างๆ เกี่ยวกับการระบายข้าวเข้าสู่อุตสาหกรรม ในช่วงที่ผ่านมากระทรวงพาณิชย์ได้ทดลองคัดแยกข้าวในสต็อกของรัฐพบว่ามีข้าวดีกับข้าวเสียปะปนกัน ซึ่งในการคัดแยกมีต้นทุนค่าใช้จ่ายสูงและใช้ระยะเวลานานมากจึงไม่คุ้มค่าที่จะดำเนินการ ในขณะที่อีกกระแสหนึ่งก็เร่งรัดให้มีการระบายข้าวในสต็อกของรัฐเพื่อลดภาระค่าใช้จ่ายของรัฐบาล
คณะกรรมการนโยบายและบริหารจัดการข้าว (นบข.) ครั้งที่ 6/2558 เมื่อวันที่ 26 ตุลาคม 2558 จึงทบทวนแนวทางการระบายข้าวเพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดในทุกมิติ และได้กำหนดนโยบายชัดเจนในการชะลอการระบายข้าวในสต็อกของรัฐที่มีคุณภาพมาตรฐานและใกล้เคียงมาตรฐานเพื่อการบริโภค ในช่วงต้นฤดูที่ ข้าวนาปี ปีการผลิต 2558/59 กำลังออกสู่ตลาด (พฤศจิกายน 2558 - กุมภาพันธ์ 2559) เพื่อมิให้เกิดอุปทานส่วนเกินมากดทับตลาดซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อราคาข้าวที่เกษตรกรจะได้รับจนกว่าจะพ้นช่วงฤดูข้าวใหม่ออกสู่ตลาด โดยในระหว่างนี้ให้นำข้าวที่ไม่ตรงตามมาตรฐานและข้าวผิดชนิดมาระบายเข้าสู่อุตสาหกรรมแทน เพื่อลดภาระค่าใช้จ่ายของภาครัฐ ภายใต้การกำกับดูแลที่รัดกุมเพื่อตัดข้าวกลุ่มนี้ออกจากวงจรข้าวปกติไม่ให้ส่งผลกระทบต่อราคาข้าวบริโภค
จากนโยบายดังกล่าว คณะทำงานดำเนินการระบายข้าวในสต็อกของรัฐได้ออกประกาศเชิญชวนให้ผู้ประกอบการในภาคอุตสาหกรรมที่สนใจเข้าร่วมการประมูลข้าวสารในสต็อกของรัฐเพื่อเข้าสู่อุตสาหกรรม ครั้งที่ 1/2558 ระหว่างวันที่ 30 พฤศจิกายน 2558 - 1 ธันวาคม 2558 ซึ่งข้าวที่นำออกมาจำหน่ายเป็นข้าว ในสต็อกของรัฐที่มีคุณภาพไม่ตรงตามมาตรฐานซึ่งไม่เหมาะแก่การบริโภคไม่ว่าสำหรับคนหรือสัตว์ที่เก็บรักษาอยู่ในคลังกลางขององค์การคลังสินค้า (อคส.) และองค์การตลาดเพื่อเกษตรกร (อ.ต.ก.) รวมทั้งสิ้น 10 คลัง ซึ่งแต่ละคลังมีปริมาณตั้งแต่ 1,000 ตัน ขึ้นไป แต่ไม่เกิน 7,000 ตัน ใน 7 จังหวัด ได้แก่ นครปฐม นครศรีธรรมราช นครราชสีมา สุรินทร์ พิษณุโลก ชัยนาท และนครสวรรค์ ปริมาณรวม 37,412.68 ตัน
การประมูลข้าวในสต็อกของรัฐดังกล่าว เป็นการทดลองการระบายข้าวที่มีคุณภาพไม่ตรงตามมาตรฐานจากคลังขนาดเล็กที่มีปริมาณข้าวไม่มากเข้าสู่อุตสาหกรรมที่มิใช่เพื่อการบริโภคของคนและสัตว์ เพื่อเป็นการทดสอบกระบวนการประมูลข้าวสู่อุตสาหกรรม มาตรการกำกับดูแล และกลไกภาคปฏิบัติในการควบคุมไม่ให้ข้าวดังกล่าวรั่วไหลสู่วงจรข้าวบริโภคตามปกติ ผู้ที่เข้าร่วมประมูลจึงต้องเป็นนิติบุคคลที่ประกอบกิจการโรงงานอุตสาหกรรมที่ไม่ใช่เพื่อการบริโภคของคนและสัตว์ รวมทั้งต้องมีการกำกับดูแลที่รัดกุม โดยการขนย้ายทุกขั้นตอนจะต้องมีหนังสืออนุญาตและปฏิบัติตาม “ประกาศคณะกรรมการกลางว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ เรื่อง การควบคุมการขนย้ายและจัดทำบัญชีคุมข้าวสารในสต็อกของรัฐ ซึ่งคณะกรรมการนโยบายและบริหารจัดการข้าวมีมติเห็นชอบให้ระบายสู่อุตสาหกรรม ปี 2558” ภายใต้ พ.ร.บ. ว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ พ.ศ. 2542 รวมทั้งจัดให้มีการสุ่มตรวจสอบบัญชีคุมสินค้าแสดงปริมาณการได้มาและปริมาณที่ใช้ไป
นอกจากนี้ ยังได้เน้นย้ำอีกว่าการระบายข้าวของรัฐจะดำเนินการในปริมาณและช่วงจังหวะที่เหมาะสมด้วยความระมัดระวัง โดยคำนึงถึงผลกระทบต่อราคาข้าวในตลาดและวัตถุดิบหลักที่ภาคอุตสาหกรรมใช้อยู่ด้วย