ประชาคมอาเซียน

บทบรรณาธิการ

ในการประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียนที่กรุงกัวลาลัมเปอร์ ประเทศมาเลเซีย สุดสัปดาห์ ที่ผ่านมา ผู้นำชาติสมาชิกอาเซียนร่วมประกาศการจัดตั้งประชาคมอาเซียนอย่างเป็นทางการแล้ว

เมื่อมีพิธีลงนามปฏิญญากรุงกัวลาลัมเปอร์ว่าด้วยการจัดตั้งประชาคมอาเซียน ค.ศ.2015

หมายถึงฤกษ์การเป็นประชาคมอาเซียนอย่างเป็นทางการ จะเป็นไปตามกำหนดวันที่ 31 ธันวาคม พ.ศ.2558 ไม่มีการเลื่อนอีก

การลงนามดังกล่าวยังรวมถึงการรับรอง วิสัยทัศน์และแผนงานของประชาคมในอีก 10 ปี ข้างหน้า เป็นปฏิญญากรุงกัวลาลัมเปอร์ว่าด้วยอาเซียน ค.ศ.2025 : มุ่งหน้าไปด้วยกัน

ครบถ้วนทั้ง 3 เสาหลัก ได้แก่ การเมือง และความมั่นคง, เศรษฐกิจ, สังคมและวัฒนธรรม

ผลจากการลงนามปฏิญญาทั้งสองฉบับของผู้นำทั้ง 10 ประเทศ จึงหมายถึงว่า อาเซียนจะเอาจริงแล้ว ไม่ว่าใครจะพร้อมหรือไม่พร้อมเพียงใด

จากนี้ไปความร่วมมือจะต้องกระชับแน่นขึ้น เข้าใจตรงกันมากขึ้น แม้ว่าหลักการเดิมที่จะไม่แทรกแซงกิจการภายในซึ่งกันและกันจะยังมีผลอยู่

แต่เมื่อเป้าหมายภาพรวมของอาเซียน อย่างน้อยในอีก 10 ปีข้างหน้า กำหนดไว้ว่าจะรวมตัวกันอย่างลึกซึ้งมากขึ้น ทั้งในด้านการเมืองและความมั่นคง เศรษฐกิจ, สังคมและวัฒนธรรม

ดังนั้น การสะกิดเตือนกันในประเด็นต่างๆ เพื่อให้ทั้งภูมิภาคเดินไปสู่จุดหมายคงจะเข้มข้นและชัดเจนมากขึ้น

การจะมีประเทศใดประเทศหนึ่งทำตามใจตนเองในกิจการต่างๆ นั้นคงจะยากมากขึ้น

แม้ว่าในปฏิญญาดังกล่าวจะไม่เอ่ยถึงประชา ธิปไตยและสิทธิมนุษยชนอย่างชัดเจน แต่ในแผนงานประชาคมการเมืองและความมั่นคงอาเซียน ระบุว่าการเป็นประชาคมที่อยู่บนพื้นฐานของกฎกติกา ยึดมั่นในบรรทัดฐานร่วมและกฎหมายระหว่างประเทศ และมุ่งเน้นให้ประชาชนเป็นศูนย์กลาง

รวมถึงรักษาความเป็นแกนกลางของอาเซียน ในโครงสร้างสถาปัตยกรรมของภูมิภาคและในการดำเนินความสัมพันธ์กับภาคีภายนอก ส่งเสริมบทบาทของอาเซียนในเวทีระหว่างประเทศ

เพียงเนื้อหาเท่านี้ ย่อมหมายถึงภารกิจที่ภูมิภาคอาเซียนต้องผูกโยงและเป็นที่ยอมรับของประชาคมโลก

หมายถึงการเป็นประชาธิปไตยและเคารพสิทธิมนุษยชน

หมวดหมู่ของข่าว: 
แหล่งข่าว: 
ข่าวสด

เนื้อหาข่าวเป็นการรวบรวมเพื่อการศึกษาวิจัยเท่านั้น อันเป็นประโยชน์ต่อสาธารณะ มิได้นำไปเพื่อการค้าแต่อย่างใด