สะพานไทย-เมียนมา2 ประตูการค้าใหม่-อวดโฉมกลางปี′60

ในที่สุดก็เห็นเป็นรูปเป็นร่างแล้วสำหรับโครงการก่อสร้างสะพานมิตรภาพไทย-เมียนมา แห่งที่ 2 บริเวณบ้านวังตะเคียน ตำบลท่าสายลวด อำเภอแม่สอด จังหวัดตาก หลังจากภาครัฐและเอกชนออกแรงผลักดันกันมาพักใหญ่ เพื่อแก้ไขปัญหาของสะพานมิตรภาพไทย-เมียนมา แห่งที่ 1 ที่มีสภาพชำรุด รถบรรทุกขนาดใหญ่ไม่สามารถวิ่งข้ามได้ เป็นอุปสรรคฉุดการค้าชายแดนที่กำลังเติบโตอย่างรวดเร็ว

ขณะเดียวกันความแออัดบริเวณหน้าด่าน ก็เป็นอีกปัญหาหนึ่งที่แก้ไม่ตก จึงมีความจำเป็นอย่างมากที่จะต้องแจ้งเกิดสะพานข้ามแม่น้ำเมยแห่งที่ 2 ไปพร้อมกับการจัดตั้งเขตเศรษฐกิจพิเศษตาก รองรับการค้าการลงทุนที่จะเข้ามา โดยใช้งบประมาณก่อสร้างกว่า 3,900 ล้านบาท

ชั่วคราว - สะพานชั่วคราวที่ใช้ขนเครื่องจักรอุปกรณ์ก่อสร้างสะพานไทย-เมียนมาร 2

"จงจิตร เต็งยะ" ผู้อำนวยการสำนักทางหลวงที่ 4 กรมทางหลวง บอกว่า กรมทางหลวงคือแม่งานใหญ่รับผิดชอบโครงการนี้ ซึ่งปัจจุบันได้เริ่มก่อสร้างแล้วทั้งการสร้างตัวสะพานและสร้างถนนจากทางหลวงหมายเลข 12 กม.ที่ 10+850 เชื่อมมาถึงสะพานแห่งที่ 2 รวมระยะทาง 21.4 กิโลเมตร แบ่งเป็นฝั่งไทย 17.25 กิโลเมตร ฝั่งเมียนมา 4.15 กิโลเมตร

สะพานข้ามแม่น้ำเมย แห่งที่ 2 มีความยาว 760 เมตร ความกว้าง 17 เมตร มีทางให้ผู้คนสัญจรไปมา 2 ข้าง ข้างละ 1.50 เมตร การออกแบบจะเน้นความทันสมัย แข็งแรงทนทานต่อแผ่นดินไหว และกระแสน้ำที่เชี่ยวกรากในฤดูน้ำหลาก รวมทั้งสามารถรับน้ำหนักรถบรรทุกขนสินค้าผ่านแดนได้มากถึง 50.5 ตัน

ความพิเศษของสะพานแห่งนี้เป็นการออกแบบสะพานยุคใหม่ จะไม่มีตอม่อกลางน้ำ จะใช้คานยื่นแบบสมดุล มีข้อดีคือจะช่วยให้สะพานทรุดตัวได้ยาก อีกทั้งยังทำให้สวยงาม และที่สำคัญช่วยป้องกันอุบัติเหตุทางเรือ

นอกจากนั้นยังออกแบบให้มีระบบไฟฟ้าที่มีแสงสว่างพอเพียง มีกล้องวงจรปิด เพื่อความปลอดภัยของผู้คนที่สัญจรไปมา และให้เข้ากับด่านศุลกากรแห่งใหม่ที่จะมีความทันสมัย ทั้งรูปแบบการทำงานของเจ้าหน้าที่ และการนำเทคโนโลยีสมัยใหม่มาใช้

"ตอนนี้แรงงานก่อสร้างทั้งไทยและเมียนมากว่า 400 ชีวิต กำลังเร่งมือก่อสร้าง ซึ่งจะต้องแล้วเสร็จพร้อมอวดโฉมให้ทันกลางปี 2560 เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้นักลงทุนเห็นว่าโครงสร้างพื้นฐาน ศักยภาพแม่สอดพร้อมอ้าแขนรอ"

ผู้อำนวยการสำนักทางหลวงที่ 4 ยังบอกอีกว่า แผนงานต่อจากนี้จะเดินหน้าไปเร็วหรือช้า ขึ้นอยู่กับการจัดสรรงบประมาณของรัฐที่ให้มาในแต่ละปี เช่น ปี 2558 ได้รับงบประมาณ 500 ล้านบาท และปี 2559 ได้รับงบประมาณ 800 ล้านบาท คาดว่าจะได้รับงบประมาณเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ

วันนี้ สะพานมิตรภาพไทย-เมียนมา แห่งที่ 2 ได้เริ่มตั้งไข่แล้ว ในอนาคตจะกลายเป็นประตูการค้าสำคัญที่จะเชื่อมโยงไปยังเมียนมา และอินเดีย รวมถึงจีนแผ่นดินใหญ่

หมวดหมู่ของข่าว: 
แหล่งข่าว: 
ประชาชาติธุรกิจ

เนื้อหาข่าวเป็นการรวบรวมเพื่อการศึกษาวิจัยเท่านั้น อันเป็นประโยชน์ต่อสาธารณะ มิได้นำไปเพื่อการค้าแต่อย่างใด