อี-คอมเมิร์ซไทยขึ้นผู้นำอาเซียน โชว์ตัวเลขปี 57 มูลค่าตลาดกว่า 2.03 ล้านล้านบาท

แอตด้า โชว์ตัวเลขผลสำรวจมูลค่าตลาดอี-คอมเมิร์ซไทยปี 57 มูลค่ากว่า 2.03 ล้านล้านบาท สูงสุดในภูมิภาคอาเซียน ระบุแบ่งมูลค่าซื้อขายผ่านบีทูบี 1.23 ล้านล้านบาท, บีทูซี 0.41 ล้านล้านบาท และบีทูจี 0.39 ล้านล้านบาท คาดปี 58 เติบโตต่อเนื่อง 3.65% มูลค่าแตะ 2.1 ล้านล้านบาท

นางสุรางคณา วายุภาพ ผู้อำนวยการ สำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (องค์การมหาชน) (สพธอ.) หรือ เอ็ตด้า (ETDA) เปิดเผยว่า สพธอ. ได้ดำเนินการสำรวจมูลค่าพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ในประเทศไทย ปี 2558 เพื่อเก็บรวบรวมข้อมูลสถิติมูลค่าพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ของประเทศไทยที่มีความครอบคลุมเป็นที่ยอมรับ ซึ่งได้รับการสนับสนุนและให้คำปรึกษา จากทางผู้เชี่ยวชาญ UNCTAD รวมถึงเกาหลีใต้ บราซิล และฟินแลนด์ เพื่อให้การสำรวจครั้งนี้ใช้หลักเกณฑ์ และวิธีการที่เป็นมาตรฐานสากล ซึ่งผลที่ได้จากการสำรวจครั้งนี้จะเป็นข้อมูลสำคัญในการกำหนดนโยบาย และวางแผนเชิงกลยุทธ์ของภาครัฐ และเอกชน ให้สามารถปรับตัวให้สอดคล้องกับสภาวะแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงไป ตลอดจนเสริมสร้างศักยภาพเชิงการแข่งขันของประเทศให้สามารถแข่งขันได้อย่างยั่งยืน และเป็นส่วนสำคัญในการสนับสนุนนโยบายเศรษฐกิจดิจิตอลของรัฐบาล

โดยมูลค่าอี-คอมเมิร์ซของไทยปี 2557 มีมูลค่ารวมทั้งสิ้น 2,033,493.4 ล้านบาท แบ่งเป็นมูลค่าขายจากผู้ประกอบการบีทูบี (B2B) จำนวน 1,234,226.18 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 60.69 %,ผู้ประกอบการบีทูซี 411,715.41 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 20.25 % และผู้ประกอบการบีทูจี มูลค่า 387,551.76 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 19.06 %

สำหรับกลุ่มอุตสาหกรรม 3 อันดับแรก ที่มีมูลค่าการทำอี-คอมเมิร์ซสูงสุด คือ หมวดอุตสาหกรรมการให้บริการที่พัก 630,159.13 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 38.1%,หมวดอุตสาหกรรมการผลิต 440,614.78 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 26.6% และหมวดอุตสาหกรรมข้อมูลข่าวสารและการสื่อสาร 264,863.87 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 16.02%

ส่วนแนวโน้มมูลค่าอี-คอมเมิร์ซในประเทศไทย ปี 2558 พบว่า เติบโตเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง โดยคาดว่ามีมูลค่าทั้งสิ้น 2,107,692.88 ล้านบาท แบ่งเป็นมูลค่าการขายจากผู้ประกอบการบีทูบี มูลค่า 1,230,160.23 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 58.32 % , มูลค่าขายจากผู้ประกอบการบีทูซี มูลค่า 474,648.91 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 22.57 % และมูลค่าขายจากผู้ประกอบการบีทูจี มูลค่า 402,883.74 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 19.11%

โดยกลุ่มอุตสาหกรรมที่มีการคาดการณ์มูลค่าในปี 58 มากที่สุด 3 อันดับแรก ได้แก่หมวดอุตสาหกรรมการให้บริการที่พักและอาหาร 658,909.76 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 38.4 % , หมวดอุตสาหกรรมการผลิต 350,286.83 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 20.4 % และหมวดอุตสาหกรรมการค้าปลีกและการค้าส่ง 325,077.48 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 19.0 %

“ผลการสำรวจอี-คอมเมิร์ซของไทยครั้งนี้ถือเป็นครั้งแรกที่มีการดำเนินการอย่างเป็นรูปธรรม ซึ่งตัวเลขที่ได้จากการสำรวจปี 2557 มูลค่ากว่า 2.03 ล้านล้านบาท ค่อนข้างมีความน่าเชื่อถือและเป็นที่ยอมรับ เพราะใช้สูตรการคำนวณของยามาเน่ ที่มีความแม่นยำกว่า 95% ทั้งยังได้รับการสนับสนุนและให้คำปรึกษา จากทางผู้เชี่ยวชาญ UNCTAD ซึ่งตัวเลขที่ได้ทำให้ไทยมีมูลค่าตลาดอี-คอมเมิร์ซสูงสุดในภูมิภาคอาเซียน”

นางสุรางคณา กล่าวต่อไปอีกว่า ผลการศึกษาที่ได้พบว่าผลกระทบเกิดกับอี-คอมเมิร์ซไทย มีปัจจัยภายในสำคัญ คือ ขาดคนที่มีทักษะ ต้นทุนการขนส่งสูง และค่าใช้จ่ายลงทุนเทคโนโลยีสูง ส่วนปัจจัยภายนอกมาจากโครงสร้างภาษี การเข้าถึงอินเตอร์เน็ต และความเชื่อมั่นในการซื้อสินค้าออนไลน์ รวมถึงความผันผวนเศรษฐกิจโลก ซึ่งจะนำผลการศึกษาที่ได้นำเสนอกับรัฐบาล เพื่อใช้ในการกำหนดนโยบายในการให้การสนับสนุนอี-คอมเมิร์ซของประเทศต่อไป

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 35 ฉบับที่ 3,107 วันที่ 22 – 25 พฤศจิกายน พ.ศ. 2558

หมวดหมู่ของข่าว: 
แหล่งข่าว: 
ฐานเศรษฐกิจ

เนื้อหาข่าวเป็นการรวบรวมเพื่อการศึกษาวิจัยเท่านั้น อันเป็นประโยชน์ต่อสาธารณะ มิได้นำไปเพื่อการค้าแต่อย่างใด