ภารกิจ 6 รองนายกฯ เคลื่อนแผน "ประชารัฐ" ตอกเสาเข็มปฏิรูป

3 ปีนับจากนี้ ภายใต้การบริหารราชการแผ่นดินของรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เป็นห้วงเวลาแห่งการขับเคลื่อนสิ่งที่ลงทุน-ลงแรงไปให้ผลิดอกออกผลก่อนลงจากอำนาจในปี"60

"พล.อ.ประยุทธ์" เคยขีดเส้นตายโรดแมประยะที่สองว่า "ต้องดำเนินการให้เป็นรูปธรรมก่อน ก.ค. ปี"60 เพื่อส่งต่อไปรัฐบาลหน้าในช่วงโรดแมประยะที่สาม"

"ดร.สมคิด จาตุศรีพิทักษ์" เคยประกาศว่า ขณะนี้เป็น "โอกาสทอง" ที่จะปฏิวัติโครงสร้างทางเศรษฐกิจครั้งใหญ่-ใฝ่ฝันว่าประเทศไทยจะเป็นนักมวยประเภท "ตัวเล็กหมัดหนัก" เทียบชั้นประเทศสิงคโปร์

พล.อ.ประยุทธ์ "ผ่านร้อนผ่านหนาว" ก่อนจะถึงวันแถลงผลงานรัฐบาลในวาระครบรอบ 1 ปี ในช่วงปลายเดือนธันวาคมปีนี้ ภาพประเทศไทยนับจากวินาทีนี้มี "หมุดหมาย" แจ่มชัด ประกอบกับเวลาที่ไล่กวดรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ ชนิดหายใจลดต้นคอ

พล.อ.ประยุทธ์ จึงถือโอกาสเปลี่ยนแปลงระบบการบังคับบัญชาจาก "แนวดิ่ง" แบบบนลงล่าง โดยการเพิ่ม "แนวระนาบ" ขึ้นอีกมิติหนึ่ง เพื่อให้การขับเคลื่อนนโยบายนำไปสู่การปฏิบัติเป็นที่จับต้องได้

แนวดิ่งระดับบนสุด ประกอบด้วยแม่น้ำหลัก 5 สาย ได้แก่ คสช. คณะรัฐมนตรี (ครม.) กรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) สภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) และสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) คอยบังคับทิศ ไม่ให้ออกนอกลู่นอกทาง

ส่งต่อนโยบายไปสู่การขับเคลื่อนภาคปฏิบัติผ่าน 6 รองนายกฯ จากเดิมเป็นการขับเคลื่อนรายกระทรวงเปลี่ยนเป็นการขับเคลื่อนรายภารกิจ โดยที่ยังมี พล.อ.ประยุทธ์ เป็นกัปตันเรือ ซึ่งมีอำนาจขององค์รัฏฐาธิปัตย์อยู่เต็มมือ ประกอบด้วย

"พล.อ.อ.ประจิน จั่นตอง" เป็นรองประธาน คณะที่ 1 คณะกรรมการขับเคลื่อนและปฏิรูปด้านการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์และระบบการศึกษา พัฒนาทรัพยากรมนุษย์ทุกช่วงอายุ การจัดการศึกษา เชื่อมโยงระบบการศึกษากับตลาดแรงงาน รวมทั้งเตรียมความพร้อมแรงงานสู่ประชาคมอาเซียนปฏิรูปการศึกษา ระบบสวัสดิการสังคม ปฏิรูปแรงงาน และส่งเสริมชุมชนเข้มแข็ง

"ดร.สมคิด จาตุศรีพิทักษ์" เป็นรองประธานคณะที่ 2 คณะกรรมการขับเคลื่อนและปฏิรูปด้านเศรษฐกิจ การเงิน การคลัง การลงทุนภาครัฐ และโครงสร้างพื้นฐาน ขับเคลื่อนดูแลค่าครองชีพให้แก่ผู้มีรายได้น้อย ส่งเสริมการแข่งขันที่เป็นธรรม ส่งเสริม SMEs ปรับโครงสร้างภาษี ส่งเสริมเขตเศรษฐกิจพิเศษ พัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน บริหารจัดการพลังงานและส่งเสริมพลังงานทดแทน ขับเคลื่อนเศรษฐกิจดิจิทัล และเตรียมพร้อมเข้าร่วมประชาคมเศรษฐกิจ เช่น ความตกลง TPPปฏิรูปส่งเสริมการเป็นศูนย์กลางประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนปฏิรูปสหกรณ์รัฐวิสาหกิจ

"ดร.วิษณุ เครืองาม" รองประธานคณะที่ 3 คณะกรรมการขับเคลื่อนและปฏิรูปด้านระบบราชการ กฎหมาย กระบวนการยุติธรรม และสร้างความปรองดองสมานฉันท์

ขับเคลื่อนปรับปรุงกฎหมายที่ล้าสมัย ปรับบทบาทองค์การมหาชน และกำกับดูแลให้คดีทางการเมืองเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม

ปฏิรูปการกระจายอำนาจท้องถิ่น องค์กรยุติธรรมและองค์กรอิสระ ปรับโครงสร้างอำนาจส่วนกลาง ส่วนภูมิภาค ส่วนท้องถิ่น สร้างความปรองดอง

"พล.ร.อ.ณรงค์ พิพัฒนาศัย" รองประธานคณะที่ 4 คณะกรรมการขับเคลื่อนและปฏิรูปด้านสาธารณสุข ขับเคลื่อนบริการสุขภาพอย่างทั่วถึง สร้างระบบหลักประกันสุขภาพ ส่งเสริมการเป็นศูนย์กลางสุขภาพปฏิรูประบบบริการสาธารณสุขและปฏิรูประบบประกันสุขภาพ

"พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ" รองประธาน คณะที่ 5 คณะกรรมการขับเคลื่อนและปฏิรูปด้านความมั่นคง ลดความเหลื่อมล้ำ การเกษตร ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมและเรื่องที่เป็นวาระเร่งด่วนและการแก้ไขปัญหาการดำเนินการตามพันธกรณีระหว่างประเทศ

แก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ แก้ไขปัญหาการค้ามนุษย์และแรงงานต่างด้าวผิดกฎหมายจัดหาที่อยู่อาศัยแก่ผู้มีรายได้น้อย และจัดระเบียบสังคม ปรับโครงสร้างการเพาะปลูกพืชเกษตร บริหารจัดการทรัพยากรน้ำ ป้องกัน ปราบปรามการทุจริต และดำเนินการตามพันธกรณีระหว่างประเทศ เช่น การปรับปรุงมาตรฐานการบินพลเรือนของไทยตามแนวทางขององค์การการบินพลเรือนระหว่างประเทศ (ICAO) การดำเนินการเกี่ยวกับการทำประมงที่ผิดกฎหมาย (IUU Fishing) ปฏิรูปภาคเกษตร ปฏิรูปการจัดการที่ดิน ปฏิรูปการผังเมือง

"พล.อ.ธนะศักดิ์ ปฏิมาประกร" รองประธาน คณะที่ 6 คณะกรรมการขับเคลื่อนและปฏิรูปด้านการท่องเที่ยววัฒนธรรม การกีฬา ขับเคลื่อนพัฒนาการท่องเที่ยว ศิลปวัฒนธรรมและการกีฬา

นอกจากนี้ 6 รองนายกฯ ยังได้รับมอบหมายให้รับผิดชอบกลั่นกรองการจัดทำงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2560

สำหรับโครงสร้างแนวดิ่งที่เป็น "แกนกลาง" คือ คณะกรรมการขับเคลื่อนและเร่งรัดการดำเนินงานตามนโยบายของรัฐบาล ที่มี "นายสุวพันธ์ ตันยุวรรธนะ" รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน

นายสุวพันธ์ให้ 20 กระทรวงจัดทำแผนปฏิบัติการ (Action Plan) ขับเคลื่อนและการปฏิรูปการบริหารราชการแผ่นดินรายกระทรวง ในช่วงโรดแมปของรัฐบาลระยะที่สอง คือ ช่วงระหว่างตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค. 58-ก.ค. 60 และส่งกลับมาภายในวันที่ 14 ธ.ค. 58 ประสานงานกับ สนช.-สนช.-สปท.

โดยมี "พล.อ.ชาตอุดม ติตถะสิริ" ประธานคณะกรรมการติดตามและตรวจสอบการใช้จ่ายเงินงบประมาณภาครัฐ (คตร.) กำกับ 6 คณะอนุกรรมการ คตร.ประจำกระทรวง สอดส่องไม่ให้เกิดการทุจริต

ขณะที่การขับเคลื่อนใน "แนวระนาบ" มี "พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา" รมว.มหาดไทย เป็นเจ้าภาพหลักในการขับเคลื่อนนโยบายฐานล่างให้ลงไปสู่การปฏิบัติ ผ่านผู้ว่าราชการ 76 จังหวัดถึงศูนย์ว่าการอำเภอทั่วประเทศ

3 ปี ที่มีงานหนักรอรัฐบาพล.อ.ประยุทธ์อยู่

หมวดหมู่ของข่าว: 
แหล่งข่าว: 
ประชาชาติธุรกิจ

เนื้อหาข่าวเป็นการรวบรวมเพื่อการศึกษาวิจัยเท่านั้น อันเป็นประโยชน์ต่อสาธารณะ มิได้นำไปเพื่อการค้าแต่อย่างใด