ข้าหลวงใหญ่สิทธิมนุษยชนยูเอ็นเรียกร้องไทยปิดเรือนจำชั่วคราวภายใน มทบ.11

สำนักงานข้าหลวงใหญ่เพื่อสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ เรียกร้องรัฐบาลไทยยุติการควบคุมตัวพลเรือนในค่ายทหาร หลังมีผู้เสียชีวิตที่เรือนจำพิเศษภายใน มทบ.11 แล้ว 2 ราย ชี้สิทธิของผู้ถูกควบคุมตัวไม่ได้รับการคุ้มครอง และทนายความไม่สามารถขอพบลูกความได้อย่างเป็นส่วนตัว

ใบแถลงข่าวของสำนักงานข้าหลวงใหญ่เพื่อสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ (OHCHR) เรียกร้องให้รัฐบาลไทยปิดสถานที่ควบคุมตัวของทหารที่ตั้งอยู่ในกรุงเทพฯ และยุติการควบคุมตัวพลเรือนในค่ายทหาร (ที่มา: OHCHR)

แผนที่ตั้งของ มทบ.11 ถนนพระราม 5 ซึ่งคำสั่งกระทรวงยุติธรรมกำหนดให้ใช้พื้นที่ 1 ไร่ ภายใน มทบ.11 เป็นเรือนจำชั่วคราวแขวงถนนนครไชยศรี (ที่มา: Google Maps)

24 พ.ย. 2558 สำนักงานข้าหลวงใหญ่เพื่อสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (OHCHR) ได้เผยแพร่ใบแถลงข่าววันนี้ (24 พ.ย.) (อ่านใบแถลงข่าว) เรียกร้องให้ปิดสถานที่ควบคุมตัวของทหารในกรุงเทพฯ ซึ่งมีผู้ถูกควบคุมตัวเสียชีวิตแล้ว 2 รายในเดือนที่ผ่านมาโดยทันที และเรียกร้องให้รัฐบาลไทยเชิญผู้เชี่ยวชาญอิสระเข้าร่วมกระบวนการสอบสวนในกรณีดังกล่าว

นอกจากนี้ OHCHR เรียกร้องให้รัฐบาลยุติการใช้พื้นที่ในเขตของทหารเพื่อควบคุมตัวพลเรือน

แถลงการณ์ระบุต่อไปว่า "สืบเนื่องจากเมื่อวันที่ 11 กันยายน ศกนี้ กระทรวงยุติธรรมได้ออกคำสั่งกำหนดให้ใช้พื้นที่ในเขต มทบ.11 เป็นเรือนจำชั่วคราวเพื่อใช้ควบคุมและปฏิบัติต่อบุคคลในคดีความผิดเกี่ยวกับความมั่นคงของรัฐและคดีอื่นที่เกี่ยวข้องนั้น"

"ผู้ถูกกล่าวหาว่าเกี่ยวข้องกับการระเบิดอันก่อให้เกิดการเสียชีวิตเมื่อ 17 สิงหาคม 2558 จำนวน 2 ราย และผู้ถูกจับกุมตัวในฐานความผิดฉ้อโกงและหมิ่นพระบรมเดชานุภาพอีก 3 ราย ได้ถูกส่งตัวมาควบคุมไว้ในเรือนจำชั่วคราวแห่งนี้ ต่อมาทางการไทยแถลงว่า พ.ต.ต.ปรากรม วารุณประภา หนึ่งในผู้ถูกควบคุมตัวในคดีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพเสียชีวิตลงในเรือนจำเมื่อวันที่ 23 ตุลาคม โดยระบุว่าพบ พ.ต.ต.ปรากรม แขวนคอตนเองด้วยเสื้อเสียชีวิตภายในห้องคุมขัง ต่อมาเมื่อวันที่ 7 พฤศจิกายน นายสุริยัน สุจริตพลวงศ์ ผู้ถูกควบคุมตัวในคดีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพอีกรายหนึ่งถูกพบในสภาพเสียชีวิตแล้วภายในห้องคุมขัง ซึ่งทางการไทยแถลงว่านายสุริยันเสียชีวิตเนื่องจากมีอาการติดเชื้อในกระแสเลือด"

"สำนักงานข้าหลวงใหญ่ฯ ได้ร้องขอให้รัฐบาลไทยดำเนินการไต่สวนกรณีการเสียชีวิตในสถานที่ควบคุมตัวอย่างเป็นกลาง อย่างละเอียด และโดยพลัน ทั้งนี้ นางมาทิลด้า บอคเนอร์ ผู้แทนประจำภูมิภาคของสำนักงานข้าหลวงใหญ่ฯ ระบุว่า การตรวจสอบอย่างเป็นอิสระและเป็นกลางจะทำให้เกิดความกระจ่างในเหตุการณ์การเสียชีวิต อีกทั้งจะนำไปสู่การรับประกันความพร้อมรับผิด (accountability) รวมทั้งจะช่วยป้องกันไม่ให้เกิดเหตุการณ์ในลักษณะดังกล่าวขึ้นอีกในอนาคตด้วย นอกจากนี้ผู้แทนสำนักงานข้าหลวงใหญ่ฯ เสริมว่า คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งประเทศไทยควรเข้ามาช่วยเหลือในกระบวนการตรวจสอบในกรณีดังกล่าวด้วย ผู้แทนสำนักงานข้าหลวงใหญ่ฯ เน้นย้ำว่าควรเผยแพร่ผลการตรวจสอบการเสียชีวิตต่อสาธารณชนด้วย"

"การใช้ค่ายทหารเป็นสถานที่ควบคุมตัวผู้ต้องสงสัยมีแนวโน้มว่าอาจนำไปสู่การละเมิดสิทธิมนุษยชนในรูปแบบต่างๆ ซึ่งรวมถึงการซ้อมทรมานด้วย" นางมาทิลด้ากล่าว

"ทั้งนี้ เมื่อเดือนตุลาคม 2557 คณะทำงานของสหประชาชาติว่าด้วยการควบคุมตัวตามอำเภอใจและผู้รายงานพิเศษเรื่องการซ้อมทรมานและการปฏิบัติหรือการลงโทษอย่างไร้มนุษยธรรม ได้ส่งจดหมายถึงรัฐบาลไทยเพื่อแสดงความกังวลใจต่อข้อกล่าวหาว่าด้วยการซ้อมทรมานและการปฏิบัติอย่างไร้มนุษยธรรมต่อบุคคล 5 คนโดยเจ้าหน้าที่ทหาร ในจดหมายฉบับดังลก่าว ผู้เชี่ยวชาญของสหประชาชาติได้ระบุว่าพวกเขามีความกังวลใจจากรายงานที่ระบุว่าผู้ถูกควบคุมตัว 5 คนนี้ในเขตพื้นที่ทหารในกรุงเทพฯ และโดยรอบกรุงเทพฯ ถูกทำร้ายร่างกาย การข่มขู่ว่าจะถูกสังหาร การทำร้ายด้วยกระแสไฟฟ้า และการแยกขังเดี่ยว เป็นต้น"

"ในประเด็นเกี่ยวกับการควบคุมตัวพลเรือนในสถานที่ควบคุมตัวของทหารนั้น นางมาทิลด้ากล่าวว่า ดูเหมือนว่าเจ้าหน้าที่ทหารจำนวนหนึ่งไม่ได้รับการฝึกฝนอย่างเหมาะสมสำหรับดูแลสถานที่ควบคุมตัวเช่นนี้ และสิทธิของผู้ถูกควบคุมตัวก็ไม่ได้รับการคุ้มครองอย่างครบถ้วน นางมาทิลด้าระบุว่า "มีรายงานเผยแพร่คำสัมภาษณ์ของทนายความของผู้ต้องสงสัยรายหนึ่งในคดีระเบิดกลางกรุงเทพฯ ซึ่งชี้ให้เห็นว่า ทนายความไม่ได้รับอนุญาตให้พบกับลูกความของเขาเป็นส่วนตัว รวมทั้งคำถามของทนายความต้องถูกตรวจสอบก่อนเข้าพบลูกความ" นอกจากนี้ "กฎหมายระหว่างประเทศยังได้รับประกันสิทธิของผู้ถูกควบคุมตัวตามหลักกระบวนการอันควรทางกฎหมาย (Due process) อันครอบคลุมถึงสิทธิในการได้พบทนายความโดยทันที การที่ผู้ถูกควบคุมตัวสามารถพบกับทนายอย่างเป็นความลับ และสิทธิในการพบทนายความอย่างสม่ำเสมอ ดังนั้น การละเมิดสิทธิเหล่านี้ย่อมเป็นการสร้างสภาพแวดล้อมที่สุ่มเสี่ยงต่อความปลอดภัยของผู้ถูกควบคุมตัวอีกด้วย"

แหล่งข่าว: 
ประชาไทออนไลน์

เนื้อหาข่าวเป็นการรวบรวมเพื่อการศึกษาวิจัยเท่านั้น อันเป็นประโยชน์ต่อสาธารณะ มิได้นำไปเพื่อการค้าแต่อย่างใด