ภาคประชาชนเรียกร้องรัฐบาล หยุดกระบวนการเข้าร่วมความตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจภาคพื้นเอเชียแปซิฟิค (TPP)

โดย  กลุ่มศึกษาข้อตกลงเขตการค้าเสรีภาคประชาชน(FTA Watch)

ก่อนประเมินผลกระทบอย่างรอบด้าน และต้องผ่านการมีส่วนร่วมในการตัดสินใจจากประชาชน

ตามที่มีกระแสเรียกร้องจากภาคธุรกิจและบุคคลบางกลุ่มให้ประเทศไทยเข้าร่วมในความตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจภาคพื้นเอเชียแปซิฟิคหรือTPP โดยรัฐบาลได้มีการสั่งการให้ทุกหน่วยงานทำการศึกษาเพื่อกำหนดท่าทีของไทย แต่ระหว่างนั้น กลับมีการพบปะหารือระหว่างผู้แทนรัฐบาลและสหรัฐฯ ซึ่งถือได้ว่าเป็นหุ้นส่วนใหญ่ในข้อตกลง TPP มาอย่างต่อเนื่อง และยังให้รองนายก นายสมคิด ... เดินทางไปขอร้องให้รัฐบาลญี่ปุ่นสนับสนุนให้ไทยเข้าร่วม TPP อีกด้วย

กลุ่มศึกษาข้อตกลงเขตการค้าเสรีภาคประชาชน (FTA Watch) ซึ่งประกอบไปด้วยเครือข่ายประชาชนที่หลากหลาย อาทิเช่น เครือข่ายผู้ติดเชื้อเอชไอวีฯ เครือข่ายเกษตรกรรมทางเลือก เครือข่ายผู้บริโภค เอ็นจีโอด้านสุขภาพ นักวิชาการ เป็นต้น ซึ่งเป็นเครือข่ายที่ติดตามการเจรจาการค้าเสรีที่มีผลกระทบต่อวิถีชีวิตของประชาชนมาอย่างต่อเนื่องยาวนาน

เราขอยืนยันเจตนารมณ์และจุดยืน ส่งต่อถึงท่านนายกรัฐมนตรีในฐานะหัวหน้ารัฐบาลในปัจจุบันว่า การตัดสินใจเข้าร่วมความตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจภาคพื้นเอเชียแปซิฟิค (TPP) ของประเทศไทย ต้องตั้งอยู่บนการคำนึงถึงผลกระทบทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม และวิถีชีวิตประชาชน โดยต้องมีการศึกษาและประเมินผลกระทบทางสิ่งแวดล้อม สังคม สุขภาพ และผลกระทบต่อการกำหนดนโยบายสาธารณะอย่างรอบด้าน รวมทั้งต้องมีการรับฟังความเห็นจากประชาชนและประชาชนต้องมีส่วนร่วมในการตัดสินใจ 

การสั่งการให้กระทรวง ทบวง กรม ต่างๆ ที่เกี่ยวข้องให้ดำเนินการจัดทำข้อเสนอด้านการเยียวยา กรณีที่อาจจะเกิดผลกระทบต่อสังคมและประชาชนนั้น เครือข่ายฯ มองว่าเป็นการแสดงเจตนาและมีท่าทีที่ชัดเจนว่ารัฐบาลต้องการเข้าร่วม TPP ซึ่งเป็นการส่งสัญญาณผิดๆกับข้าราชการ ทำให้ไม่กล้าเสนอผลการศึกษาที่แท้จริง การเตรียมการเยียวยาไว้ก่อนทั้งๆ ที่รู้ว่าจะมีผลกระทบหลักๆอะไรบ้าง อีกทั้งบางเรื่องก็อาจมีผลกระทบที่ไม่อาจเยียวยาได้นั้น เป็นท่าทีตั้งรับเพื่อมุ่งเน้นกระโจนเข้าสู่การเจรจา ซึ่งนำไปสู่การลดทอนอำนาจในการต่อรองในการเจรจาและอาจนำไปสู่การยอมรับเงื่อนไขต่างๆ โดยขาดการคำนึงถึงผลร้ายที่เกิดตามมาในอนาคต

กลุ่มศึกษาข้อตกลงเขตการค้าเสรีภาคประชาชน (FTA Watch) ซึ่งได้ติดตามและวิเคราะห์ความตกลง TPP มาอย่างต่อเนื่องมีความเห็นว่า ประเทศไทยไม่ควรเข้าร่วมในความตกลงนี้ หรืออย่างน้อยต้องไม่รีบเร่งเข้าเป็นภาคี โดยมีเหตุผลหลักดังนี้

1. ค่าใช้จ่ายด้านยาของประเทศจะสูงขึ้น เนื่องจากไทยต้องยอมรับให้มีการผูกขาดข้อมูลทางยา (Data Exclusivity) เพิ่มขึ้นอีกอย่างน้อย 5 ปี ส่งผลให้ยาชื่อสามัญไม่สามารถออกสู่ตลาดได้ จากการศึกษาของหน่วยปฏิบัติการวิจัยเภสัชศาสตร์สังคม จุฬาฯ โดยการสนับสนุนของ สนง.อาหารและยา กรมทรัพย์สินทางปัญญา และกรมเจรจาฯ และได้ตีพิมพ์ใน The Southeast Asian Journal of Tropical Medicine and Public Health พบว่า ปีที่ห้านับจากปล่อยให้มีการผูกขาดข้อมูลยา 5 ปี ค่าใช้จ่ายด้านยาของไทยจะสูงขึ้นอีก 81,356 ล้านบาท/ปี เมื่อผนวกรวมกับการขยายการคุ้มครองสิทธิบัตรยาเพิ่มขึ้นอีก 5 ปี ซึ่งมีผลทำให้ค่าใช้จ่ายด้านยาเพิ่มขึ้นอีกเป็น 27,883 ล้านบาท/ปี สุดท้ายแล้ว จะส่งผลให้ประเทศต้องแบกภาระค่าใช้จ่ายด้านยาเพิ่มขึ้นโดยไม่จำเป็น ซึ่งตรงกับข้อมูลที่เกิดขึ้นจริงในประเทศจอร์แดนหลังทำเอฟทีเอกับสหรัฐ โดยยอมรับข้อตกลงที่เกินกว่าทริปเมื่อปี พ.ศ. 2546 ราคายาเพิ่มขึ้นร้อยละ 20 และเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ รวมทั้งพบว่ายาในตลาดร้อยละ 79 ไม่มียาชื่อสามัญเข้ามาแข่งขันได้ ทำให้ต้นทุนการรักษาพยาบาลสูงขึ้น และราคายาแพงกว่าอียิปต์ซึ่งเป็นเพื่อนบ้านถึง 8 เท่า

2. เกิดการผูกขาดสิทธิบัตรยาแบบไม่มีวันตาย (Evergreenig patent) เพราะ ใน TPP กำหนดให้ประเทศสมาชิกต้องยอมรับให้มีการจดสิทธิบัตรยาที่ครอบคลุมข้อบ่งใช้ใหม่ของสารเดิม (new uses) วิธีการใช้ใหม่ของสารเดิม (new method of using) ซึ่งจะเปิดโอกาสให้เกิดการจดสิทธิบัตรยาเกินไปกว่าเงื่อนไขในพ.ร.บ.สิทธิบัตรยา ของไทยฉบับปัจจุบัน ที่ระบุว่า สิ่งประดิษฐ์ที่ขอรับสิทธิบัตรได้ต้องเป็นการประดิษฐ์ขึ้นใหม่ มีขั้นตอนการประดิษฐ์ที่สูงขึ้น และต้องประยุกต์ในทางอุตสาหกรรมได้ แต่ข้อกำหนดใน TPP กลับเปิดโอกาสให้มีการจดสิทธิบัตรแบบไม่มีที่สิ้นสุด โดยยอมให้มีการจดสิทธิบัตรต่อยอดจากของเก่าที่มีการปรับปรุงเพียงเล็กน้อย ส่งผลให้ขยายการผูกขาดสิทธิบัตรยาที่มากไปกว่า 20 ปี ทำให้ยามีราคาแพงต่อเนื่องยาวนาน ประชาชนไม่สามารถเข้าถึงยาจำเป็นได้ รวมทั้งยังเป็นการขัดขวางการผลิตและนำเข้ายาชื่อสามัญ และทำลายระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติด้วย

3. เกิดการผูกขาดเมล็ดพันธุ์ โดยกำหนดให้ไทยต้องเข้าเป็นอนุสัญญา UPOV 1991 ส่งผลให้เกษตรกรไม่สามารถทำการเก็บรักษาและแลกเปลี่ยนพันธุ์พืชได้ เป็นการลิดรอนสิทธิพื้นฐานของเกษตรกร นักปรับปรุงพันธุ์รายย่อย วิสาหกิจชุมชน มีข้อจำกัดในการเข้าถึงและปรับปรุงพันธุ์พืช   ราคาเมล็ดพันธุ์จะมีราคาแพงมากขึ้น จากผลการศึกษาพบว่าราคาจะแพงขึ้น 2-6 เท่า เปิดช่องให้เกิดการแย่งชิงทรัพยากรชีวภาพ รวมทั้งอาจยังทำให้ประเทศไทยต้องยอมรับพืชและผลิตภัณฑ์ดัดแปลงพันธุกรรม (GMOs) ด้วย

4. เปิดช่องให้นักลงทุนฟ้องร้องรัฐบาลได้ง่ายขึ้น ในด้านการคุ้มครองนักลงทุน หากไทยยอมรับเงื่อนไขจะส่งผลต่อการออกนโยบายของรัฐ เมื่อรัฐดำเนินการออกมาตรการเพื่อปกป้องผลกระทบต่อสุขภาพและสิ่งแวดล้อมของประชาชน  เช่น จำกัดการใช้มาตรการของรัฐเกี่ยวกับการควบคุมยาสูบหรือเครื่องดื่มมึนเมา โดยอ้างเรื่องทรัพย์สินทางปัญญา  จำกัดการออกมาตรการคุ้มครองสิ่งแวดล้อมและสุขภาพเนื่องจากการลงทุนทำเหมืองแร่ และโครงการขนาดใหญ่ต่างๆ ฯลฯ ทั้งนี้นักลงทุนต่างชาติสามารถฟ้องร้องรัฐผ่านกลไก “อนุญาโตตุลาการระหว่างประเทศ” ซึ่งจากการศึกษาพบว่าอนุญาโตตุลาการที่ดำเนินการพิจารณาและตัดสินข้อพิพาท มักจะดำรงตำแหน่งเป็นที่ปรึกษาทางกฎหมายหรืออยู่ในคณะกรรมการบริหารของบริษัทเอกชน จึงมีความเป็นไปได้สูงที่อนุญาโตตุลาการจะทำหน้าที่เอื้อประโยชน์หรือปกป้องผลประโยชน์ของนักลงทุนมากกว่าที่จะพิจารณาข้อพิพาทอย่างอิสระและเป็นกลาง ไม่เพียงเท่านั้นยังมีข้อบัญญัติที่ระบุว่า นับจากนี้สัญญาสัมปทานในทรัพยากรธรรมชาติ ป่าไม้ เหมืองแร่ ไฟฟ้า น้ำประปา ก๊าซ ฯลฯ ล้วนต้องอยู่ภายใต้กลไกนี้

ด้วยเหตุผลข้างต้นกลุ่มศึกษาข้อตกลงเขตการค้าเสรีภาคประชาชน จึงขอเรียกร้องต่อรัฐบาลดังนี้

1. รัฐบาลต้องหยุดกระบวนการเข้าร่วมความตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจภาคพื้นเอเชียแปซิฟิค (TPP)  และต้องเร่งดำเนินการจัดทำการศึกษาและประเมินผลกระทบทางสิ่งแวดล้อม สังคม สุขภาพ และผลกระทบต่อการกำหนดนโยบายสาธารณะ โดยยึดหลักเกณฑ์การประเมินผลกระทบด้านสุขภาพ Health Impact Assessment (HIA) ตาม พ.ร.บ.สุขภาพแห่งชาติ และต้องมีการนำเสนอข้อมูลที่ประเมินแล้วสู่สาธารณะ

2. รัฐต้องจัดให้มีการรับฟังความเห็นจากประชาชนอย่างรอบด้าน ก่อนมีการตัดสินใจเข้าร่วมในภาคีหุ้นส่วนเศรษฐกิจภาคพื้นเอเชียแปซิฟิค (TPP)

3.การดำเนินการด้านนโยบายระดับใหญ่ที่มีผลผูกพันต่อเนื่อง ควรต้องคำนึงถึงกระบวนการมีส่วนร่วม และการรับฟังความเห็นจากประชาชนทุกกลุ่ม และควรเป็นการดำเนินการภายใต้การตัดสินใจของรัฐบาลและรัฐสภาที่มาจากประชาชนอย่างแท้จริงเท่านั้น.

18 ธค.2558

หมวดหมู่ของเนื้อหาในเว็บ: 
เอฟทีเอรายประเทศ: