(15 ก.พ.59) ไม่กี่วันหลังจากที่ประธานสภาผู้แทนราษฎรสหรัฐฯประกาศว่า ความตกลง TPP อาจไม่ผ่านความเห็นชอบของสภาฯ แต่ประธานาธิบดีสหรัฐฯยังคงพยายามใช้การประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียน-สหรัฐ ที่แรนโชมิราจ รัฐแคลิฟอร์เนีย ในการชักชวนผู้นำอาเซียนให้มาร่วมความตกลงนี้ ในการประชุมทวิภาคีนี้ บารัค โอบามา จะกระตุ้นให้ชาติอาเซียนประกาศนโยบายเข้าร่วม TPP แม้ในความเป็นจริง ความตกลงนี้ยังไม่มีอนาคตที่แน่ชัด
นางสาวกรรณิการ์ กิจติเวชกุล ผู้ประสานกลุ่มศึกษาข้อตกลงเขตการค้าเสรีภาคประชาชน (เอฟทีเอ ว็อทช์) เปิดเผยว่า ขณะนี้ความเป็นไปได้ที่ความตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิค (TPP) จะผ่านความเห็นชอบจากสภาคองเกรสสหรัฐยังมีความไม่แน่นอนสูงมาก โดยมีเสียงคัดค้านจากทั้งพรรคเดโมแครตและพรรครีพับลิกันที่ครองเสียงข้างมากทั้ง 2 สภา
“ในการประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียน-สหรัฐฯ 1-2 วันนี้ ผู้นำสหรัฐฯจะพยายามเกลี้ยกล่อมให้ผู้นำชาติอาเซียนประกาศเจตนารมณ์เข้าร่วมเจรจาTPP ทั้งที่ในสหรัฐเองยังไม่มีอนาคตว่าจะสามารถเข็นผ่านสภาตัวเองได้หรือไม่ ดังนั้น ผู้นำชาติอาเซียน โดยเฉพาะผู้นำของไทยต้องใช้สติปัญญาและวิจารณญาณอย่างมากในการแยกแยะ อย่าเผลอไปรับปากอย่างไม่รับผิดชอบ”
ทางพับบลิกซิติเซ่น องค์กรพัฒนาเอกชนที่ติดตามการเจรจาการค้าของสหรัฐได้ออกข่าวแถลง ระบุว่า หลังจากที่มีผู้นำ 12 ชาติสมาชิก TPP ได้ลงนามความตกลงอย่างเป็นทางการไปเมื่อวันที่ 4 ก.พ.ที่ผ่านมา ทั้งผู้นำวุฒิสมาชิกเสียงข้างมากและประธานสภาผู้แทนราษฎร สหรัฐฯ ต่างได้ออกมาแถลงจุดยืนไม่สนับสนุนความตกลงนี้ ซึ่งเสียงข้างมากทั้งสองสภาเป็นกำลังสำคัญที่เคยสนับสนุนให้ประธานาธิบดีโอบามาสามารถเข็นกฎหมายฟาสแทร็กที่ให้อำนาจประธานาธิบดีเจรจาการค้าผ่านออกมาได้ด้วยคะแนนเสียงที่เฉียดฉิว”
เมื่อวันที่ 2 ก.พ. นายมิชซ์ แมคคอนเนล ผู้นำวุฒิสมาชิกเสียงข้างมากจากพรรครีพับลิกัน กล่าวว่า “มีข้อบกพร่องจำนวนนึงในความตกลง เราจะหารือและดูว่ามีทางออกหรือไม่ ซึ่งผู้สมัครชิงตำแหน่งประธานาธิบดีของพรรคเดโมแครตทั้งคู่และผู้สมัครชิงตำแหน่งของพรรคเราจำนวนหนึ่งก็คัดค้านความตกลงนี้ ดังนั้นข้อแนะนำของเราขณะนี้คือ ไม่สนับสนุนให้เอาความตกลงนี้เข้าโหวตในสภาก่อนการเลือกตั้ง”
ทางด้านนายพอล ไรอัน ประธานสภาผู้แทนราษฎร สหรัฐฯ แสดงจุดยืนกับสื่อมวลชนเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา “มีข้อห่วงใยหลายจุดในความตกลงนี้ และไม่เห็นว่ามีแรงสนับสนุนที่มากพอ
ไม่เพียงเท่านั้น ยังมีเสียงคัดค้านจากนายร็อบ พาร์ตแมน อดีตผู้แทนการค้าสหรัฐในสมัยประธานาธิบดีจอร์จ ดับเบิลยู บุช ซึ่งปัจจุบันดำรงตำแหน่งวุฒิสมาชิกรัฐโอเรกอนของพรรครีพับลิกัน “ผมไม่สามารถสนับสนุนความตกลง TPP ในรูปแบบนี้ได้ รู้สึกผิดหวังที่ประธานาธิบดีโอบามา และผู้แทนการค้าฯโฟร์แมนไปลงนาม TPPที่นิวซีแลนด์”
นอกจากนี้ จากงานวิจัยของคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ชุดโครงการความท้าทายของภาคอุตสาหกรรมไทย ซึ่งสนับสนุนโดย สกว. ซึ่งเผยแพร่เมื่อ ม.ค.ที่ผ่านมา ชี้ว่า แม้ประเทศไทยได้ลงนามข้อตกลงการค้าเสรี หรือ FTA จำนวนมาก แต่ที่ผ่านมา FTA ไม่ได้กระตุ้นการส่งออกมากนัก หากพิจารณาจากสถานการณ์การส่งออกในช่วง 7 เดือนแรกของปี 2558 ตลาดที่ไทยลงนาม FTA ด้วยมักมีอัตราการขยายตัวของมูลค่าการส่งออกติดลบ นอกจากนั้น อัตราการใช้ประโยชน์จาก FTA ก็ยังมีจำกัด กล่าวคือ มูลค่าการขอใช้สิทธิ FTA (ทุกๆ กรอบรวมกัน) ยังไม่ถึงครึ่งหนึ่งของมูลค่าการส่งออกรวม (ใช้และไม่ใช้สิทธิ FTA)ตัวเลขการใช้สิทธิ FTA ทางด้านการนำเข้าก็อยู่ในระดับตํ่า เพียงไม่ถึง1 ใน 5 ของมูลค่าการนำเข้ารวม ขณะที่การกระตุ้นให้ผู้ประกอบการใช้สิทธิเพิ่มขึ้นคงทำได้ไม่มากนัก ส่วนหนึ่งเพราะแต้มต่อภาษีที่จะได้จาก FTAไม่มากพอที่จะชดเชยต้นทุนส่วนเพิ่มจากการปฏิบัติตามกฎว่าด้วยถิ่นกำเนิด และต้นทุนธุรกรรมในการขอใช้สิทธิ
“ดังนั้น เราคงต้องย้อนถามว่า การลงนามในข้อตกลงการค้าเสรีเหล่านี้คุ้มค่าหรือไม่ ทั้งในแง่งบประมาณ บุคลากร และเวลาที่ใช้ไปกับการเจรจา ก่อนที่จะเร่งเดินหน้าเจรจาและลงนามต่อไป เวลานี้นับเป็นช่วงเวลาที่ดีเพราะขณะนี้ประเทศไทยขาดความพร้อมที่จะเดินหน้าเจรจา FTAใหม่ๆ โดยเฉพาะ New Normal FTAอย่าง Trans-Pacific Partnership (TPP) ที่เรียกร้องให้ลดภาษีสินค้าจำนวนมากให้เป็นศูนย์ทันที และการเจรจาต้องครอบคลุมประเด็นอื่นๆ ที่ไม่ใช่ภาษี โดยเฉพาะประเด็นที่ยังไม่ตกผลึกอย่างข้อตกลงที่เกี่ยวกับการคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญาซึ่งจะส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมภายในประเทศ” งานวิจัยชิ้นดังกล่าวสรุป
(เครดิตภาพ Public Citizens)