FTAWATCH เสนอรมว.พณ คิดให้ถูกเรื่อง TPP

โดย  กลุ่มศึกษาข้อตกลงเขตการค้าเสรีภาคประชาชน(FTA Watch)

วันนี้ (31 พ.ค.59) กลุ่มศึกษาข้อตกลงเขตการค้าเสรีภาคประชาชน (เอฟทีเอ ว็อทช์) และภาคประชาสังคมที่ติดตามเรื่องผลกระทบจากการเจรจาการค้าระหว่างประเทศได้หารือร่วมกับนางอภิรดี ตันตราภรณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เรื่องการเข้าร่วมความตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก (TPP) ณ ห้องรับรองชั้น 11 สำนักปลัดกระทรวงพาณิชย์ โดยมีข้อเสนอแนะต่อรัฐบาล ดังนี้

1. ขอให้กระทรวงพาณิชย์และกระทรวงต่างๆที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะกระทรวงสาธารณสุข เปิดเผยข้อมูลงานศึกษาตัวเลขอย่างครบถ้วน ทั้งผลได้และผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับทุกภาคส่วน เพื่อให้สังคมและแวดวงวิชาการได้ร่วมตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูล
2. จัดเวทีวิชาการดีเบตข้อมูลเหล่านั้น ทั้งที่คาดว่าการเข้า TPP จะสร้างผลบวกกับประเทศไทย และผลกระทบที่จะเกิดขึ้น และให้ช่วยกันพิจารณาว่า ยังขาดข้อมูลอะไรที่มีความจำเป็นต่อการตัดสินใจเข้าหรือไม่เข้า TPP อีกบ้าง
3. จะต้องมีการชี้แจงในระดับนโยบาย หากประเทศไทยเข้า TPP ซึ่งจำต้องยอมรับการผูดขาดตลาดยาเพิ่มขึ้นจากปัจจุบัน 1-10 ปี ซึ่งกระทรวงสาธารณสุขประเมินว่า จะต้องเตรียมงบประมาณตั้งแต่ 2,835 – 288,266 ล้านบาทต่อปี ซึ่งแน่นอนว่าจะส่งผลกระทบต่อระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติของไทยที่ดูแลประชากรถึง 48 ล้านคนและระบบสาธารณสุขของประเทศ รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา จะเตรียมการรองรับอย่างไร สามารถเยียวยาได้หรือไม่ เมื่อเทียบกับงานศึกษาของสถาบันปัญญาภิวัฒน์ที่กระทรวงพาณิชย์จัดจ้างศึกษาว่า การเข้า TPP จะทำให้จีดีพีของประเทศเพิ่มขึ้น 0.77% เท่านั้น
4. มีการศึกษาและทำความเข้าใจถึงผลกระทบจากการคุ้มครองการลงทุนของนักลงทุนต่างชาติผ่านกลไกระงับข้อพิพาทระหว่างรัฐและเอกชน (ISDS) อย่างไรบ้าง เพราะตอนนี้มีแนวโน้มจะเป็นปัญหาใหญ่ โดยเฉพาะนัยยะต่อการกำหนดนโยบายสาธารณะของรัฐ เช่น การไม่ต่อใบอนุญาตทำเหมืองทองด้วยเหตุผลด้านสิ่งแวดล้อมและสาธารณสุข การออกกฎระเบียบคุ้มครองผู้บริโภค จะนำไปสู่การฟ้องร้องเรียกค่าเสียหายและล้มนโยบายเหล่านี้ต่ออนุญาโตตุลาการระหว่างประเทศหรือไม่อย่างไร และการที่ TPP บังคับให้ไทยเป็นภาคี ICSID ที่คำตัดสินของอนุญาโตตุลาการที่รัฐไทยไม่สามารถนำกลับมาพิจารณาในระบบยุติธรรมของไทยได้ จะส่งผลเสียหายมากน้อยเพียงใด ซึ่งประเด็นเหล่านี้ต้องมีการทำประเมินผลกระทบด้านกฎหมายและนโยบาย (Regulatory Impact Assessment) ดังที่คณะกรรมการปฏิรูปกฎหมายแนะนำไว้
5. ผู้กำหนดนโยบายไม่พึงใช้อารมณ์เป็นที่ตั้งในการตัดสินใจเรื่องที่มีผลผูกพันกับประชาชนคนไทยชั่วลูกชั่วหลานแต่ต้องตัดสินใจด้วยเหตุและผลบนข้อมูลที่ครบถ้วน ถูกต้อง สมดุล ดังนั้น เมื่อดำเนินการดังข้อ 1-3 ก่อนแล้ว จึงนำข้อมูลทั้งหมดเข้าพิจารณาในคณะกรรมการนโยบายเศรษฐกิจระหว่างประเทศ หรือคณะรัฐมนตรี ว่า ประเทศไทยควรไปขอเข้าร่วมเจรจา TPP หรือไม่
6. ในระหว่างนี้ให้หยุดกระบวนการแก้กฎหมาย ประกาศและระเบียบต่างๆ ตามคำเรียกร้องของชาติ มหาอำนาจต่างๆ ทั้งที่ยังไม่ได้มีการเจรจา อาทิ พรบ.สิทธิบัตร, พรบ.คุ้มครองพันธุ์พืชใหม่, พรบ.จัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ,ประกาศควบคุมการนำเข้าเนื้อจากประเทศที่มีความเสี่ยงโรควัวบ้า, การเปิดตลาดเนื้อสุกรที่พบสารเร่งเนื้อแดง, การยกเลิกมาตราฉลากภาพควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์, ยกเลิกการแก้ไข ร่างพรบ.ควบคุมการส่งเสริมการตลาดอาหารสำหรับทารกและเด็กและผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวข้อง ซึ่งล้วนแต่บ่อนทำลายภาคเกษตร ภูมิปัญญาท้องถิ่น และระบบการคุ้มครองผู้บริโภคและการสาธารณสุขไทย

ทั้งนี้ กลุ่มศึกษาข้อตกลงเขตการค้าเสรีภาคประชาชน (เอฟทีเอ ว็อทช์) และภาคประชาสังคมที่ติดตามเรื่องผลกระทบจากการเจรจาการค้าระหว่างประเทศ ขอให้ผู้กำหนดนโยบายเศรษฐกิจของรัฐบาลและรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้องกับเรื่องนี้ วางการตัดสินใจบนพื้นฐานของข้อมูลผลดีผลเสียของประเทศมากกว่าการสร้างราคาพูดถึงแต่ด้านดีของความตกลง TPP นี้
ผู้ร่วมหารือประกอบไปด้วย นายอนันต์ เมืองมูลชัย ประธานเครือข่ายผู้ติดเชื้อเอชไอวี/เอดส์ ประเทศไทย, นายเฉลิมศักดิ์ กิตติตระกูล และน.ส.แสงศิริ ตรีมรรคา มูลนิธิเข้าถึงเอดส์, นายวิฑูรย์ เลี่ยนจำรูญ ผู้อำนวยการมูลนิธิชีววิถี, นายแพทย์หทัย ชิตานนท์ และนายวศิน พิพัฒนฉัตร สถาบันส่งเสริมสุขภาพไทย มูลนิธิสาธารณสุขแห่งชาติ, นายคำรณ ชูเดชา เครือข่ายองค์กรงดเหล้า, นายนิอับดุลฆอร์ฟาร โตะมิง โครงการปฏิบัติการงานพัฒนา สถาบันวิจัยสังคม จุฬาฯ และน.ส.กรรณิการ์ กิจติเวชกุล ผู้ประสานงานเอฟทีเอ ว็อทช์

หมวดหมู่ของเนื้อหาในเว็บ: 
เอฟทีเอรายประเทศ: