ผู้แทนเจรจาจาก 16 ประเทศจะประชุมร่วมกันที่เมืองอ็อคแลนด์ ประเทศนิวซีแลนด์ ในสัปดาห์นี้ การประชุมนี้เป็นการเจรจาข้อตกลงความร่วมมือทางเศรษฐกิจในระดับภูมิภาค หรือ “อาร์เส็บ” ครั้งที่ 13 ซึ่งถือเป็นการเจรจาข้อตกลงการค้าฉบับที่ใหญ่ที่สุดฉบับหนึ่ง องค์กรหมอไร้พรมแดนและองค์กรภาคประชาสังคมด้านสุขภาพอื่นๆ เรียกร้องให้ผู้แทนเจรจาถอนบทว่าด้วยทรัพย์สินทางปัญญาที่เป็นภัยคุกคามออกจากการเจรจา เรื่องทรัพย์สินทางปัญญาที่กำลังเจรจาจะทำให้ค่ารักษาพยาบาลสูงขึ้น เพราะจะเอื้อให้เกิดการผูกขาดตลาดที่ยาวนานมากขึ้นและทำให้ยาชื่อสามัญราคาถูกกว่าที่เป็นคู่แข่งออกสู่ตลาดได้ช้าลง ถ้าที่ประชุมยอมรับข้อเสนอในเรื่องทรัพย์สินทางปัญญาที่ญี่ปุ่นและเกาหลีใต้เสนอ ประชาชนนับล้านๆ คนในทวีปเอเซียและทั้งโลก ที่พี่งพายาจำเป็นที่เป็นยาชื่อสามัญในราคาไม่แพงจากอินเดีย จะได้รับผลกระทบเข้าไม่ถึงยาเหล่านั้น
ลีนา เมนฮานี ฝ่ายรณรงค์เพื่อการเข้าถึง องค์กรหมอไร้พรมแดน อินเดีย ให้ความคิดเห็นว่า “ถ้าคณะผู้แทนเจรจาไม่ถอนบทบัญญัติที่เป็นภัยคุกคามออกจากข้อตกลงอาร์เส็บ ข้อตกลงการค้าฉบับนี้จะเป็นอันตรายไม่แพ้ข้อตกลงทีพีพี (ข้อตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจในภาคพื้นเอเซียแปซิฟิค) ที่นำโดยสหรัฐฯ ทั้งนี้ ทั่วทั้งโลกรู้กันแล้วว่าข้อตกลงทีพีพีเป็นข้อตกลงการค้าที่จะส่งผลเลวร้ายที่สุดต่อการเข้าถึงยา เราขอเรียกร้องให้ผู้แทนเจรจาของอินเดียที่ดูแลเรื่องทรัพย์สินทางปัญญายึดมั่นคำสัญญา ตามที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณุสข นายเจพี นาดดา ได้ให้ไว้ต่อที่ประชุมระดับสูงว่าด้วยเอขไอวี/เอดส์ขององค์การสหประชาชาติเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว ซึ่งรัฐมนตรีฯ ได้กล่าวไว้ว่า ‘อินเดียขอให้สัญญาว่าจะยังคงมาตรการยืดหยุ่นทริปส์ไว้เพื่อการเข้าถึงยาในราคาไม่แพง’”
เบลินดา ทาว์นเซนด์ สมาคมสุขภาพเพื่อประชาชนของออสเตรเลีย กล่าวให้ความเห็นว่า “อินเดียและจีนเป็นผู้ส่งออกยาชื่อสามัญรายใหญ่ให้กับประชาชนในโลกประเทศกำลังพัฒนา ประเทศที่พัฒนาน้อยที่สุดและประเทศรายได้ปานกลาง ซี่งได้แก่ อินเดีย จีน อินโดนีเซีย กัมพูชา เมียนมา ฟิลิปปินส์ ไทย และลาว ต้องแก้ไขปัญหาท้าทายด้านสาธารณสุขในเรื่องเอชไอวี เชื้อวัณโรคดื้อยา ไวรัสตับอักเสบ และโรคไม่ติดต่อต่างๆ และต้องตอบสนองความต้องการในเรื่องการรักษาให้เป็นไปตามเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนในเรื่องการเข้าถึงสุขภาพถ้วนหน้าด้วย การคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญาที่เข้มงวดในประเทศเหล่านี้จะเป็นข้อจำกัดทำให้ประชาชนของตนเองไม่สามารถเข้าถึงยาจำเป็นในราคาไม่แพงได้”
ข้อตกลงอาร์เส็บเป็นข้อตกลงการค้าระดับภูมิภาค ที่กำลังเจรจากันระหว่างประเทศในกลุ่มอาเซียน 10 ประเทศกับออสเตรเลีย จีน อินเดีย ญี่ปุ่น นิวซีแลนด์ และเกาหลีใต้ ประชากรเกือบร้อยละ 50 ของโลกจะได้รับผลกระทบจากการเจรจาข้อตกลงอาร์เส็บนี้ ซึ่งรวมถึงคนยากจนและประชาชนที่ด้อยโอกาสและประชาชนในประเทศที่พัฒนาน้อยที่สุดด้วย
เนื้อหาการเจรจาที่หลุดออกมาสู่สาธารณะ โดยฉพาะในบทว่าด้วยทรัพย์สินทางปัญญา แสดงให้เห็นว่าญี่ปุ่นและเกาหลีใต้พยายามอย่างไม่ลดละที่จะเสนอข้อเสนอที่น่าเป็นกังวล ที่เข้มงวดเกินกว่าข้อตกลงการค้าสากลที่มีอยู่และจะส่งผลให้การเข้าถึงยาชื่อสามัญในราคาไม่แพงมีอุปสรรค
บทบัญญัติที่เป็นภัยและถูกเสนอในการเจรจาข้อตกลงอาร์เส็บในบทว่าด้วยทรัพย์สินทางปัญญา คือ “การผูกขาดข้อมูลทางยา” ถ้าประเทศอย่างอินเดีย อินโดนีเซีย ไทย และประเทศพัฒนาน้อยที่สุดต่างๆ ยอมรับข้อผูกมัดเรื่องการผูกขาดข้อมูลทางยา ผู้ผลิตยาชื่อสามัญจะต้องถูกบังคับให้ทำการศึกษาวิจัยทางคลินิคซ้ำซ้อนอีก ด้วยเงื่อนไขนี้ จะทำให้บริษัทยาชื่อสามัญไม่กล้าที่จะลงทุนค้นคิดและผลิตยาชื่อสามัญในราคาที่ถูกกว่าออกมาแข่งขัน เพราะต้องลงทุนพัฒนาวิจัยใหม่ซึ่งมีค่าใช้จ่ายสูง ทั้งๆ ที่เป็นยาที่รู้จักกันโดยทั่วไปแล้ว แต่ต้องทำการวิจัยใหม่ที่ต้องนำชีวิตอาสาสมัครมาเสี่ยงอีกครั้ง ทั้งนี้ ถือว่าเป็นการละเมิดจริยธรรมในเรื่องการทดลอง ดังนั้น การผูกขาดข้อมูลทางยาจึงเป็นการผูกขาดตลาดรูปแบบใหม่ที่คล้ายสิทธิบัตร เพื่อกีดกันยาชื่อสามัญ แม้ว่ายาเหล่านั้นจะไม่มีสิทธิบัตรจดไว้ในประเทศนั้นๆ ก็ตาม เนื้อหาร่างบทบัญญัติที่หลุดรั่วออกมาเสนอให้ขยายอายุสิทธิบัตรให้มากกว่า 20 ปี และให้มีการบังคับกฎหมายทรัพย์สินทางปัญญาที่เข้มงวดเกินกว่ามาตรฐานสากล
เฉลิมศักดิ์ กิตติตระกูล มูลนิธิเข้าถึงเอดส์ ประเทศไทย แสดงความกังวลว่า “การเสนอให้มีบทบัญญัติในลักษณะทริปส์ผนวก ไม่ว่าจะเป็นการขยายอายุสิทธิบัตรหรือการผูกขาดข้อมูลทางยา จะยิ่งทำให้ปัญหาการผูกขาดตลาดยาที่เป็นอยู่รุนแรงมากขึ้น ไม่เพียงแต่เฉพาะในประเทศไทยแต่รวมถึงประเทศอื่นๆ ในภูมิภาคด้วย งานศึกษาฉบับหนี่งในปี ค.ศ. 2008 เปิดเผยให้รู้ว่าการผูกขาดตลาดที่เพิ่มขึ้นอีก 5 ปีจาก 20 ปี จะทำให้ประเทศไทยมีค่าใช้จ่ายด้านยาสูงขึ้นเกือบหกพันล้านเหรียญฯ ในช่วงเวลา 20 ปี ระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติของประเทศ ที่ดูแลคนกว่า 48 ล้านคน จะต้องได้รับผลกระทบอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้”