ข้อสอบโอเนตยิ่งกว่าเฉลยคำตอบผิด

โดย  กลุ่มศึกษาข้อตกลงเขตการค้าเสรีภาคประชาชน(FTA Watch)

จากกรณีมีเสียงวิพากษ์วิจารณ์เกี่ยวกับความถูกต้องของข้อสอบ และการเฉลยคำตอบข้อสอบ O-NET ปีการศึกษา 2558 ในวิชาต่างๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในวิชาสังคมศึกษา ศาสนาและวัฒนธรรม โดยสถาบันทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติ (สทศ.)ได้ยืนยันว่ามีผิดเพียง 1 ข้อเท่านั้น ส่วนอีก 5 ข้อรวมทั้งข้อ 85 ซึ่งเกี่ยวกับผลของการค้าเสรีนั้นพบว่าเฉลยถูกต้องแล้ว

ศ.ดร.สุรพล นิติไกรพจน์ ตัวแทนของ สทศ.แถลงว่าผลของการค้าเสรีนั้น คำตอบที่ถูกต้องคือ คำตอบข้อ 1. และข้อ 4 . กล่าวคือ ข้อ 1. ตอบว่าผลของการค้าเสรีทำให้เกิดการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ และข้อ 4. คือทำให้มีการใช้ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมมากขึ้น ส่วนข้ออื่น เช่น ข้อ 2. เกิดการพึ่งพาทางเศรษฐกิจ ไม่ถูกทั้งหมดเพราะการเปิดเสรีการค้าจะทำให้มีการพึ่งพาเศรษฐกิจในระดับจุลภาคไม่ใช่มหภาค ส่วนข้อ 3. เกิดการครอบงำจากต่างชาตินั้น ไม่ถูกเพราะการเปิดเสรีการค้าต้องมีความโปร่งใส จะเกิดการครอบงำจากต่างชาติได้ยากขึ้น และ ข้อ5. คนรวยและคนจนมีฐานะต่างกันชัดเจน ก็ไม่ใช่ข้อที่ถูกต้อง เพราะความยากจนนั้นเกิดได้จากหลายสาเหตุ ไม่ใช่แค่เปิดเสรีการค้าอย่างเดียว 

คำแถลงของสทศ. จึงเป็นคำตอบของกลุ่มผู้มีอำนาจทางการศึกษาที่ยัดเยียดคำตอบผลของการเปิดเสรีทางการค้าจากความเห็นของตนให้นักเรียนและประชาชนยอมรับ ขัดแย้งกับการวิเคราะห์ขององค์รกรภาคประชาชนและนักวิชาการชั้นนำ เนื่องจากผลของการเปิดเสรีทางการค้ามิได้ทำให้เกิดการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจและส่งผลให้มีการใช้ทรัพยากรธรรมชาติและส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมเท่านั้น แต่ผลของการเปิดเสรียังทำให้เกิดการพึ่งพาเศรษฐกิจ (คำตอบข้อ 2) เกิดการครอบงำจากต่างชาติ (ข้อ 3) และทำให้ความเหลื่อมล้ำระหว่างคนรวยและคนจนถ่างกว้างมากขึ้น (คำตอบข้อ 5)

ศ.โจเซฟ สติกลิทซ์ นักเศรษฐศาสตร์รางวัลโนเบล เขียนบทความวิพากษ์วิจารณ์เกี่ยวกับการเปิดเสรีทางการค้าไว้ต่างกรรมต่างวาระเป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งการวิพากษ์วิจารณ์ว่าการเปิดเสรีทางการค้าให้ผลประโยชน์ต่อคนร่ำรวยในขณะที่คนจนกลับยากจนเพิ่มขึ้น ในขณะที่กลไกต่างๆ เช่น การเปิดให้นักลงทุนเอกชนฟ้องรัฐ (ISDS) กฎหมายทรัพย์สินทางปัญญา เป็นต้น เป็นการนำเอากลไกทางการค้าที่เป็นประโยชน์ต่อบริษัทยักษ์ใหญ่และประเทศอุตสาหกรรมมาใช้กับประเทศกำลังพัฒนา เพื่อผลประโยชน์ของกลุ่มคนร่ำรวย 

จากการวิเคราะห์ของเอฟทีเอว็อทช์ การยอมรับความตกลงทรัพย์สินทางปัญญา ทำให้เกษตรกรต้องพึ่งพาเมล็ดพันธุ์จากบรรษัทข้ามชาติและบริษัทยักษ์ใหญ่ด้านเมล็ดพันธุ์ ประชาชนต้องพึ่งพายาจากบริษัทยาข้ามชาติในราคาแพง ในขณะที่การยอมรับระบบทรัพย์สินทางปัญญา และ ISDS ส่งผลกระทบต่อกฎหมายภายใน ลดทอนอำนาจตุลาการ ส่งผลกระทบต่ออธิปไตยของประเทศในหลายด้าน

สภาเกษตรกรแห่งชาติวิเคราะห์ว่า การเปิดเสรีการค้าภายใต้ TPP ทำให้เกษตรกรรายย่อยที่เลี้ยงหมู เลี้ยงไก่ ปลูกข้าวโพด จะได้รับผลกระทบ ในขณะที่ผลประโยชน์จากการเปิดเสรีเป็นของกลุ่มอุตสาหกรรมเลี้ยงสัตว์ และผู้เลี้ยงสัตว์รายใหญ่ โดยก่อนหน้านี้ นายณรงค์ชัย อัครเศรณี ซึ่งได้รับการแต่งตั้งเป็นหัวหน้าคณะประเมินผลการทำเอฟทีในอดีตพบว่า การทำเอฟทีเอที่ผ่านมาของรัฐบาลไทย ทำให้เกิดภาวะ “รวยกระจุก จนกระจาย” สอดคล้องกับสิ่งที่สติกลิทซ์ได้วิเคราะห์ไว้

ปัญหาร้ายแรงเกี่ยวกับข้อสอบและการเฉลยคำตอบ O-NET จึงไม่ใช่อยู่ที่การออกข้อสอบและการเฉลยคำตอบผิดเท่านั้น แต่เป็นปัญหาของการยัดเยียดคำตอบซึ่งมาจากทัศนะของกลุ่มผู้มีอำนาจทางการศึกษา (ซึ่งเกี่ยวข้องกับกลุ่มผู้มีอำนาจทางการเมืองและกลุ่มชนชั้นนำทางเศรษฐกิจ) ยัดเยียดคำตอบจากทัศนะของพวกตนครอบงำนักเรียนและประชาชน

ข้อสอบเกี่ยวกับผลของการค้าเสรี ซึ่งเป็นข้อสอบเชิงวิเคราะห์จึงไม่ได้มีคำตอบที่ถูกต้องเพียง 2 ข้อ แต่นักเรียนที่ตอบคำถามว่าผลของการเปิดเสรีทางการค้า ว่า ข้อ 2. ทำให้เกิดการพึ่งพาเศรษฐกิจข้อ 3. เกิดการครอบงำจากต่างชาติ และข้อ 5. ทำให้เกิดความเหลื่อมล้ำระหว่างคนรวยและคนจน จึงเป็นคำตอบที่ถูกต้องด้วยโดยเหตุผลข้างต้น

ปรากฎการณ์ข้อสอบและการเฉลยคำตอบ O-NET ชี้ว่า กลุ่มชนชั้นนำมิได้ผลักดันให้ประเทศไทยยอมรับการเปิดเสรีทางการค้าเพื่อผลประโยชน์ของบริษัทยักษ์ใหญ่ผ่านการผลักดันทางนโยบาย การออกกฎหมาย การเจรจาการค้า การโฆษณาชวนเชื่อผ่านสื่อต่างๆเท่านั้น หากแต่ยังครอบงำลึกลงไปยังระบบการศึกษา บีบบังคับให้นักเรียนต้องตอบคำถามเชิงวิเคราะห์ที่สอดคล้องกับทัศนะของกลุ่มผู้มีอำนาจเท่านั้น

หมวดหมู่ของเนื้อหาในเว็บ: