FTA Watch ชำแหละ 13 ประเด็นสำคัญ CPTPP ที่ 'พาณิชย์' เสนอรองนายกฯ

โดย  กลุ่มศึกษาข้อตกลงเขตการค้าเสรีภาคประชาชน(FTA Watch)

23 ก.พ.2562 ผู้สื่อข่าวได้เอกสารซึ่งแหล่งข่าวระบุว่าเป็นเอกสารที่กระทรวงพาณิชย์จัดทำให้ สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี ในรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา โดยผู้สื่อข่าวสอบถามถึงความสำคัญของเอกสารฉบับนี้กับ กลุ่มศึกษาข้อตกลงเขตการค้าเสรีภาคประชาชน หรือ FTA Watch โดย กรรณิการ์ กิจติเวชกุล รองประธานกลุ่มฯ ชี้ถึงความสำคัญของเอกสารฉบับนี้ว่า เป็นเอกสารที่กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ จัดทำขึ้นเพื่อเสนอต่อรองนายกฯ สมคิด เมื่อวันที่ 18 ก.พ.ที่ผ่านมา จะเห็นได้ว่ามี ประเด็นสำคัญทั้งหมด 13 ประเด็น โดยแบ่งเป็นประเด็นกฎหมายที่ต้องปรับแก้อยู่ในคอลัมน์แรก และประเด็นด้านนโยบายที่ต้องปรับแก้ ส่วนคอลัมน์ที่ 2 จะว่าด้วยแนวทางการเจรจา และคอลัมน์ที่ 3 คือตัวอย่างของประเทศที่ได้ใช้ความยืดหยุ่นต่างๆ

ส่วนข้อเสนอประเด็นกฎหมายที่ต้องปรับแก้นั้น รองประธาน FTA Watch กล่าวว่า เท่าที่กระทรวงพาณิชย์ไปรับฟังความคิดเห็นมานั้นยังไม่เคยพูดชัดขนาดนี้ ประเด็นแรกคือเรื่องการปรับแก้ พ.ร.บ.คุ้มครองพันธุ์พืช เพื่อเข้าเป็นสมาชิก UPOV 1991 จะเห็นได้ว่ารัฐบาลชุดนี้โดยเฉพาะกระทรวงเกษตรพยายามผลักดันมาหลายครั้ง รวมทั้งผ่าน พ.ร.บ.ข้าว ด้วย แต่ว่าในที่สุดก็ถูกเสียงคัดค้านจากประชาชนจนไม่สามารถทำได้ เมื่อเป็นเช่นนี้การเข้า CPTPP จะบังคับให้ความตกลงต่างประเทศมาบังคับให้กฎหมายในประเทศเป็นไปตามนั้น ทีนี้เมื่อเราดูแนวทางที่กระทรวงพาณิชย์บอกว่าไทยอาจจะทำได้นี้ จริงๆ แล้วอาจจะไม่ได้ง่ายขนาดนั้น เพราะแนวทางพวกนี้ทั้งหมดเป็นแนวที่มันต้องเป็นประเทศที่ต้องเข้าร่วมเจรจาแต่แรกถึงจะได้ แต่ถ้าประเทศไทยที่เข้าสมัครทีหลังแล้วอยากจะได้ข้อยกเว้นหรือระยะเวลาปรับตัวนั้น ต้องไปแลกกับการเจรจาระดับทวิภาคีกับทั้ง 11 ประเทศสมาชิก CPTPP ซึ่งประเทศเหล่านั้นสามารถเรียกร้องจากไทยเพิ่มเติมนอกเหนือจากที่กำหนดในข้อบทต่างๆ ได้อีก การที่กระทรวงพาณิชย์แจ้งกับหน่วยราชการ รัฐวิสาหกิจ ภาคเอกชน และเกษตรกรที่ไปรับฟังจึงเป็นการพูดความจริงครึ่งเดียว

หากรัฐบาลรับปากต่อสาธารณชนว่า ถ้าเจรจาเงื่อนไขต่างๆ ไม่ได้ตามนี้ แล้วจะไม่เข้า แบบนี้จึงจะเป็นความจริงมากกว่า ไม่เช่นนั้นถึงที่สุดเมื่อรัฐบาลและบางกลุ่มทุนใหญ่อยากให้เข้าร่วมมากๆ เพื่อประโยชน์การส่งออกระยะสั้น ก็มักจะยอมถอย แล้วให้ประชาชนและสังคมในภาพรวมรับผลกระทบแทน

ภาพคำอธิบาย CPTPP หรือ Comprehensive and Progressive Agreement of Trans-Pacific Partnership ความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก ของ เพจ ธนาคารแห่งประเทศไทย - Bank of Thailand อธิบายไว้เมื่อวันที่ 17 ต.ค.61 ว่า เป็นความตกลงการค้าเสรีที่ครอบคลุมในเรื่องการค้า การบริการ และการลงทุนเพื่อสร้างมาตรฐานและกฎระเบียบร่วมกันระหว่างประเทศสมาชิก ทั้งในประเด็นการคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญา มาตรฐานแรงงาน กฎหมายสิ่งแวดล้อม รวมถึงกลไกแก้ไขข้อพิพาทระหว่างรัฐบาลและนักลงทุนต่างชาติ โดยมีประเทศสมาชิก 11 ประเทศ คือ ญี่ปุ่น แคนาดา เม็กซิโก เปรู ชิลี ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ สิงคโปร์ มาเลเซีย บรูไน และเวียดนาม ความตกลง CPTPP ไม่ใช่การจัดตั้งขึ้นมาใหม่ แต่เป็นการปรับโฉมจากความตกลง TPP (Trans-Pacific Partnership) โดยมีประเทศสหรัฐอเมริกาเป็นสมาชิกด้วย แต่หลังจากที่สหรัฐอเมริกาได้ถอนตัวออกไปเมื่อปี 2560 ประเทศสมาชิกที่เหลือก็ตัดสินใจเดินหน้าความตกลงต่อ โดยใช้ชื่อใหม่ว่า CPTPP ซึ่งแตกต่างจาก TPP ตรงที่มีขนาดเศรษฐกิจและการค้าเล็กลง และมีกฎเกณฑ์ที่ผ่อนคลายมากขึ้น

การจัดซื้อยา-การจัดซื้อจัดจ้างฯ

ในข้อ 2 เรื่อง ยกเลิกการให้สิทธิประโยชน์แก่องค์การเภสัชกรรมในการจัดซื้อยาของภาครัฐนั้น กรรณิการ์ กล่าวว่า ถ้าจะไปเจรจาตามที่กระทรวงพาณิชย์บอกจะอ้างได้ว่าเพื่อเหตุผลป้องกันชีวิตต่างๆ แล้วขอการปรับตัว แต่ว่าเรื่องนี้ทำแทบไม่ได้เพราะว่าเราไม่ได้เป็นประเทศร่วมเจรจาตั้งแต่แรก ถ้าเราอยากได้หมายความว่าเราต้องยอมแลกกับบางอย่างที่อาจจะเสียหายมากกว่านี้ แต่ถ้าสมมติไม่สามารถยกเว้นได้นั้น อันนี้อาจจะเป็นผลกระทบอย่างใหญ่หลวง เพราะว่าการจัดซื้อยาของประเทศไทย เราจัดซื้อยาในระบบหลักประกันสุขภาพ ซึ่งก็เป็นวงเงินมากแล้วที่ผ่านมาการจัดซื้อยารวมช่วยประหยัดงบประมาณการเจรจาต่อรองอย่างมาก แต่ละปีประหยัดไปได้ไม่ต่ำกว่า 5,000-8,000 ล้านบาท

เรื่อง การจัดซื้อจัดจ้างฯ ในข้อ 3 นั้น ที่ผ่านมากระทรวงพาณิชย์ตอนไปรับฟังความคิดเห็นพูดประเด็นนี้น้อยมากเช่นเดียวกัน อ้างแต่ว่าจะสามารถไปเจรจาจำกัดบางเรื่องบางราวได้ แต่ว่าจริงๆ ไม่อธิบายให้หน่วยงานต่างๆ รับฟังอย่างชัดเจนว่าจะเป็นอย่างไรบ้าง และทางกระทรวงอุตสาหกรรมเองก็เคยแสดงความกังวลในเรื่องนี้ เพราะว่าวงเงินการจัดซื้อจัดจ้างเรียกว่าเป็นงบประมาณแผ่นดินที่ใช้ผลักดันเศรษฐกิจด้วย ถ้าสมมติว่าเงินในการจัดซื้อฯ ต้องแบ่งให้ผู้แข่งขันต่างประเทศเข้ามาจริงๆ แล้วผู้ประกอบการไทยโดยเฉพาะ SMEs บริษัทขนาดกลาง หรือที่ใหญ่เฉพาะภายในประเทศนี้อาจจะสู้ไม่ได้เลย วงเงินตรงนี้จะกลายเป็นประโยชน์กับต่างประเทศทั้งหมด

ข้อ 4 เรื่องการให้สิทธิแรงงานต่างด้าวรวมตัวจัดตั้งสหภาพแรงงาน ตลอดจนให้สิทธิข้าราชการ (ยกเว้นทหาร-ตำรวจ) รวมถึงลูกจ้างของส่วนราชการรวมตัวจัดตั้งสหภาพนั้น รองประธาน FTA Watch มองว่า จริงๆ แล้วน่าสนใจ อย่ากได้ แต่ว่ากระทรวงแรงงานจะไม่ยอมแน่ๆ จะเห็นได้ว่าวิธีการของเขาคือเป็นข้ออ้างเรื่องปรับเปลี่ยนทัศนคติ ทั้งที่จริงๆ แล้วเรื่องนี้ถ้ารับจะเป็นประโยชน์กับประเทศไทยมาก แต่เชื่อว่าเรื่องนี้เขาไม่มีทางยอมรับ

การตรวจสอบรับรองมาตรฐานผลิตภัณฑ์

ส่วนข้อ 5 ประเด็นต้องให้การปฏิบัติที่เท่าเทียมกับหน่วยงานตรวจสอบรับรองมาตรฐานผลิตภัณฑ์ นั้น รองประธาน FTA Watch กล่าวว่า ตรงนี้ไม่ใช่ทุกประเทศที่เป็นสมาชิก CPTPP ที่หน่วยงานประเภทพวกประเมินคุณภาพต่างๆ นี้ จะมีคุณภาพเท่ากัน ที่ผ่านมาประเทศไทยยอมรับของสหรัฐฯ สหภาพยุโรป และญี่ปุ่นเท่านั้น ฉะนั้นถ้าให้เรายอมรับประเทศอย่างเวียดนาม หรือเปรู หรือชิลี หรือเม็กซิโก เราก็คงไม่สามารถยอมรับได้ แต่อันนี้เขาหมายถึงประเทศสมาชิกทั้งหมด แต่ว่าข้อนี้ไม่ค่อยสำคัญเท่าไร ขณะที่ข้อ 6 ประเด็นต้องปรับแก้ประกาศคณะกรรมการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เนื่องจากไทยกำหนดข้อห้ามเกี่ยวกับฉลากเครื่องดื่มแอลกอฮอล์มากกว่าที่ CPTPP กำหนด โดยเฉพาะเรื่องรูปภาพคำเตือนบนฉลากนั้น อันนี้เรื่องใหญ่อาจจะเห็นชัดว่าเป็นการปรับแก้ประกาศที่เรื่องรูปภาพคำเตือนบนฉลาก แต่จริงๆ แล้วมันก็ส่งนัยด้วยว่าต่อไปการออกกฎหมายประเภทคุ้มครองประชาชน คุ้มครองสุขภาพหรือสิ่งแวดล้อม ไม่สามารถทำได้ หากมันเกินขอบเขตกว่าที่ CPTPP มีอยู่แล้วก่อนที่ไทยจะเข้าไป ดังนั้นเราจะออกกฎหมายใหม่ๆ หรือว่า นโยบายใหม่ๆ ถ้าเป็นปัญหาอะไรแบบนี้นั้นไม่ได้เลย ส่วนข้อ 7 ประเด็นต้องให้รัฐวิสาหกิจด้านการซื้อหรือขายสินค้าและบริการโดยไม่เลือกปฏิบัติและเป็นไปตามกลไกตลาด ยกเลิกการอุดหนุน/ให้ความช่วยเหลือรัฐวิสาหกิจที่อาจก่อให้เกิดผลกระทบต่อรัฐวิสาหกิจ ธุรกิจ และอุตสาหกรรมของต่างประเทศนั้น รัฐวิสาหกิจยังไม่ค่อยรู้ว่าจะมีปัญหาแบบนี้ และที่สำคัญ ยังมีรัฐวิสาหกิจบางแห่งที่ทำหน้าที่ทางสังคม เช่น ประปา ไฟฟ้า ยารักษาโรค ทั้งสินค้าและบริการเหล่านี้ไม่ใช่สินค้าปกติ แต่ต้องดูแลสังคมให้ประชาชนเข้าถึงด้วย จะทำอย่างไร ถ้าไม่สามารถทำหน้าที่ทางสังคมได้ จะกลายเป็นว่า คนที่มีเงินเท่านั้นจึงจะสามารถเข้าถึงประปา ไฟฟ้าและยารักษาโรค มาประเด็นเรื่องนโยบายที่ต้องตัดสินใจข้อ 8 ยกเลิกภาษีสินค้าถึง ร้อยละ 99 นั้น กรรณิการ์ กล่าวว่า แต่ละเรื่องอุตสาหกรรมแต่ละอุตสาหกรรมนี้ตระหนักมากน้อยเพียงใด เพราะว่าตอนรับฟังความคิดเห็นนั้นแทบจะไม่ได้บอกเลย ไม่ว่าจะเป็นเรื่องรถยนต์สำเร็จรูปที่มีขนาดเครื่องยนต์ 3,000 cc เรื่องเนื้อวัวนม ผลิตภัณฑ์ ตรงนี้เกษตรกรวัวนมวัวเนื้อที่ได้รับผลกระทบมาตลอดก็ยังไม่ทราบว่าเขายิ่งจะเจอหนักยิ่งขึ้น จากเดิมที่เคยเจอมาแล้ว

Free zone

ข้อ 9 ยกเลิกการยกเว้นไม่เก็บภาษีนำเข้ากับสินค้าที่ผลิตใน Free zone และมาจำหน่ายในประเทศไทยนั้น เราจะเห็นเลยว่าประเทศไทยที่ผ่านมาจะมีเขตอุตสาหกรรมที่ว่า หากอยู่ใน free zone จะยกเว้นไม่เก็บภาษีนำเข้ากับสินค้าที่นี่ แต่ว่าหากยกเลิกแบบนี้ที่ผ่านมาอุตสาหกรรมที่รัฐบาลสนับสนุนให้อยู่ในเขต BOI ต่างๆ จะได้รับผลกระทบ ตรงนี้สภาอุตสาหกรรมยังไม่ได้ตระหนักเลยเพราะว่าทางกระทรวงพาณิชย์ไม่ได้ให้ข้อมูลแบบนี้เอาไว้

การฟ้องร้องภาครัฐ

รองประธาน FTA Watch กล่าวเน้นด้วยว่า สำหรับในมุม FTA Watch เรากังวลข้อ 10 มากๆ นี่คือเรื่องที่เกี่ยวข้องกับการฟ้องร้องภาครัฐ หรือที่เรียกว่า ISDS กลไกระงับข้อพิพาทระหว่าง รัฐและเอกชน ที่ผ่านมานโยบายของประเทศไทยชัดเจนว่าการคุ้มครองการลงทุน ต้องว่าด้วยการคุ้มครองลงทุนโดยตรง ลงทุนจริงเท่านั้น แต่จะเห็นได้ว่าข้อ 10 พูดถึง การลงทุนใน portfolio พูดถึงการเล่นหุ้น การลงทุนที่แม้ไม่ได้รับอนุมัติคุ้มครองเป็นลายลักษณ์อักษร ซึ่งตอนนี้คดีของวอลเตอร์ บาวกับทางด่วนดอนเมืองโทลล์เวย์ ก็เป็นแบบนี้เพราะเขาไม่ได้รับการอนุมัติการคุ้มครองที่เป็นลายลักษณ์อักษรแต่ว่าจะมาอ้างการคุ้มครองการลงทุน ฉะนั้นแบบนี้จะกระทบอย่างมากเลย กลายเป็นว่าถึงคุณไม่ได้ลงทุน แต่คุณแค่มาเช่าตู้ไปรษณีย์แบบนี้ก็เคยเกิดในต่างประเทศมาแล้ว ก็ต้องคุ้มครองการลงทุนให้เขา ซึ่งพวกนี้นี่การฟ้องร้องจะฟ้องร้องไม่ใช่แค่เป็นเหมือนที่เราเห็น เช่นถอนการคุ้มครองการลงทุน กรณีของเหมืองทอง หรือว่าวอลเตอร์ บาว แต่จะฟ้องยกเลิกนโยบายได้เลยแบบที่ต่างประเทศโดนมาแล้ว เช่นในกรณีของการฟ้องยกเลิกของศาลที่เม็กซิโกไม่ให้ออกใบอนุญาตทำที่ทิ้งขยะบนพื้นที่ต้นน้ำ เม็กซิโกก็เคยถูกฟ้องและแพ้มาแล้วด้วย

ข้อ 11 อันนี้เป็นประเด็นมาก กระทรวงสาธารณสุขย้ำมาตลอดว่า การที่จะให้สินค้าที่ปรับสภาพเป็นของใหม่ (remanufactured goods) โดยเฉพาะในเรื่องที่เกี่ยวกับเครื่องมือทางการแพทย์ อันนี้จะเท่ากับเอาขยะเครื่องมือแพทย์มาทิ้งที่ประเทศไทยเลย เพราะเขาบอกว่า "ห้ามปฏิบัติต่อสินค้าดังกล่าวเหมือนสินค้าใช้แล้ว" และเราไม่มีเทคโนโลยีในการตรวจสอบในเรื่องนี้เลย ถ้ารับมาบางครั้งมันใช้ได้แค่ไม่นานเหมือนเอาของทิ้งมาทิ้งที่ประเทศไทย ทั้งๆ ที่ผ่านมาเราจะมีปัญหานี้กับสินค้าอื่นๆ แต่เรื่องเครื่องมือแพทย์ตอนนี้กำลังเป็นธุรกิจใหญ่ เหมือนซ่อมนิดหน่อยก็เอามาปรับนิดหน่อยแล้วก็เอามาใช้ได้ กระทรวงสาธารณสุขห่วงเรื่องนี้มากแล้วก็ย้ำหลายครั้ง แต่ว่ากระทรวงพาณิชย์บอกว่าผ่อนผันได้ เจรจาได้ แต่จริงๆ แล้วแทบไม่มีอะไรยืนยันเลยว่าอะไรจะเจรจาได้ ถ้าบอกว่าหากเจรจาไม่ได้ จะไม่ไปเข้าร่วมนี่สิ จึงจะถือว่า กระทรวงพาณิชย์ได้นำข้อห่วงใยของแต่ละภาคส่วนไปพิจารณาอย่างแท้จริง

กรรณิการ์ กล่าวต่อว่า ส่วนประเด็นที่ 12 ตนคิดว่า บรรดาพวก กสท. ทีโอที ต่างๆ เหล่านี้ยังไม่รู้ว่าเกิดเรื่องแบบนี้ขึ้น ในมุมหนึ่งมันอาจจะดีสำหรับการเปิดกว้างในเชิงธุรกิจของการโทรคมนาคม แต่ในมุมนี้ในหลายข้อจะเป็นเรื่องที่รัฐจะสูญเสียรายได้ รัฐจะไม่สามารถเก็บภาษีได้ อันนี้รัฐจะจัดการไม่ได้เลย ส่วนข้อ 13 ห้ามเก็บภาษีศุลกากรสำหรับการส่งผ่านทางอิเล็กทรอนิกส์ รวมถึง content ต่างๆ นั้น ตอนนี้ประเทศไทยแทบจะจัดการเรื่องพวกนี้ไม่ได้ หากเราบอกว่าต่างประเทศเขาก็ยอมรับพันธกรณีนี้ อันนี้ควรต้องประเมินความสูญเสียว่ามันจะเท่าไร เพราะทุกวันนี้เราไม่สามารถเก็บภาษีจากแพลตฟอร์มอะไรได้เลย ไม่ว่า เฟซบุ๊ค กูเกิล ทวิตเตอร์ ยูทูบ ฯลฯ ที่เรียกว่ามาเก็บค่าโฆษณาจำนวนมาก

หมวดหมู่ของเนื้อหาในเว็บ: