จับตา!แผนพัฒนาผลิตไฟฟ้า ต้นเหตุคนไทยจ่ายค่าไฟแพง

สำนักงานปฏิรูประบบสุขภาพแห่งชาติ (สปรส.)

"ตราบใดที่รัฐบาลไม่สามารถแก้ไขปัญหาด้านพลังงานได้ จะไม่สามารถแก้ไขปัญหาความยากจนได้ เพราะคนไทยมีค่าใช้จ่ายที่เป็นค่าพลังงานถึง 14 % ขณะที่การพัฒนาพลังงานยังคงไปผิดแนวทาง" นายประสาท มีแต้ม อาจารย์คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ เคยให้ความเห็นไว้ในเวทีสมัชชาสุขภาพ เฉพาะประเด็น "การมีส่วนร่วมในการพัฒนานโยบายสาธารณะเพื่อสุขภาพ"

ในเวทีเดียวกัน นายวิฑูรย์ เพิ่มพงศาเจริญ เรียกร้องให้สังคมไทยจับตามองแผนพัฒนากำลังการผลิตไฟฟ้า พ.ศ.2547-2558 (PDP 2004) ซึ่งมีการพยากรณ์ตัวเลขความต้องการใช้ไฟฟ้าที่สูงเกินจริงไปมาก และแผนดังกล่าวทำให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องสามารถปรับขึ้นค่าเอฟที ซึ่งจะทำให้คนไทยจ่ายค่าไฟแพงขึ้น

ทั้งที่กระทรวงพลังงานตั้งเป้าหมายจะลดการใช้พลังงาน เพื่อให้สัดส่วนการใช้พลังงานกับการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจเป็น 1 : 1 แต่แนวทางในการจัดการพลังงานของประเทศกลับไม่สอดคล้องกัน

เมื่อปี 2547 การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) วางแผนกำหนดการพัฒนาโครงการโรงไฟฟ้าของประเทศโดยรวมคือ แผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้า ระยะ 12 ปี ซึ่งกลายเป็นแม่บทของการกำหนดแผนงานพลังงานทั้งหมด เชื่อมโยงกับภาคพลังงานส่วนอื่นๆ เช่น ก๊าซธรรมชาติ เหมืองแร่ลิกไนท์ และการพัฒนาระบบสายส่งกำลังไฟฟ้าด้วย

ในแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้า มีการประมาณความต้องการใช้ไฟฟ้าในอนาคต 12 ปีข้างหน้า (2547-2558) โดยใช้การเติบโตทางเศรษฐกิจคูณกับอัตราส่วนการใช้พลังงานไฟฟ้า ว่าจะมีการเพิ่มขึ้นปีละเท่าไร จะต้องจัดหา จัดสร้างเพิ่มขึ้นเท่าไร แล้วนำความต้องการไฟฟ้าในแต่ละปีไปกำหนดว่าจะสร้างโรงไฟฟ้าเมื่อใด ควรจะใช้เชื้อเพลิงและเทคโนโลยีใด และกำหนดรายละเอียดอื่นๆ เป็นต้น

แล้วนำไปสู่กระบวนการพิจารณาอนุมัติ เริ่มจากคณะกรรมการกฟผ. กระทรวงพลังงาน คณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติอนุมัติ จากกระบวนการทั้งหมดไม่ว่าจะเป็น รัฐสภา นักวิชาการ องค์กรผู้บริโภค องค์กรด้านสิ่งแวดล้อม ฯลฯ ต่างก็ไม่มีส่วนร่วม และไม่มีการตรวจสอบจากฝ่ายต่างๆ ในกระบวนการวางแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าแต่อย่างใด

นายวิฑูรย์ได้ทำการศึกษาแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้านี้พบว่า การประมาณความต้องการใช้ไฟฟ้าในปี 2547 ที่เป็นฐานในการคำนวณ สูงเกินความจริงไป 274 ล้านวัตต์ ประกอบกับการตั้งสมมติฐานว่า เศรษฐกิจจะเติบโตร้อยละ 6.5 ต่อปีต่อเนื่องกันตลอดทั้ง 12 ปีนั้น สูงกว่าค่าเฉลี่ยที่เกิดขึ้นจริง เพราะในรอบ 15 ปีที่ผ่านมา มีค่าเฉลี่ยการเติบโตเท่ากับร้อยละ 5.6

นอกจากนี้รัฐมีแผนยุทธศาสตร์ ปรับให้มีการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อให้มีการใช้พลังงานต่อผลผลิตมวลรวมในประเทศ (GDP) อยู่ที่ระดับ 1 : 1 ซึ่งต่ำกว่าอัตราส่วนที่กฟผ.นำมาใช้ในการคำนวณ เมื่อนำทั้งสองส่วนนี้มาใช้ในการคำนวณ จะทำให้การประมาณความต้องการพลังงานไฟฟ้าสูงสุดเกินกว่าความเป็นจริงมาก

ที่สำคัญรัฐยังมีนโยบายลดความต้องการพลังงานไฟฟ้าสูงสุดให้ได้ 500 ล้านวัตต์อีกด้วย เห็นได้ชัดว่าการประมาณความต้องการพลังงานไฟฟ้าที่คำนวณ ไม่ได้นับรวมแผนยุทธศาสตร์เข้าไปด้วยหลายจุด ดังนั้นผลคำนวณความต้องการไฟฟ้าสูงสุดจึงสูงเกินความจริงมาก ทำให้ต้องใช้เงินลงทุนสูงเกินความจำเป็น

นอกจากโครงการที่ก่อสร้างไปแล้ว ส่วนที่เหลือน่าจะพิจารณาทางเลือกต่างๆ ที่มีผลกระทบน้อยกว่า เช่น การประหยัดพลังงาน การใช้พลังงานหมุนเวียน ระบบการผลิตร่วม และการปรับปรุงหรือขยายโรงไฟฟ้าเก่า จะสามารถแบ่งเบาภาระได้มาก เมื่อปรับเปลี่ยนปรับปรุงตามแนวทางข้างต้นแล้วจะมีผลคือ ความต้องการพลังงานไฟฟ้าสูงสุดลดลง 6,290 ล้านวัตต์ ลดความจำเป็นในการขยายระบบโดยรวมจากเดิม 22,546 ล้านวัตต์ เหลือ 15,120 ล้านวัตต์ ภาระในการจัดหากำลังผลิตใหม่ที่ไม่ใช่ภาคอุตสาหกรรมจะเหลือแค่เพียง 2,300 ล้านวัตต์ (จากเดิม 16,885 ล้านวัตต์) ส่วนความต้องการในภาคอุตสาหกรรมที่มีสูงถึง 8,200 ล้านวัตต์ ให้เอกชนเป็นผู้ลงทุนและรับความเสี่ยงเอง

ดังนั้นภาระในการลงทุนขยายระบบจาก 977,590 ล้านบาท จะลดลงเหลือเพียง 400,000 ล้านบาท ทิศทางการพัฒนาพลังงานของประเทศ ควรมีการปรับเปลี่ยนไปหาพลังงานอื่นทดแทน

เนื่องจากพลังงานฟอสซิล ได้แก่ น้ำมันเชื้อเพลิง ก๊าซธรรมชาติ และถ่านหิน ซึ่งมีอยู่จำกัด ใช้แล้วหมดไปเลย จึงมีราคาแพงและแพงขึ้นเรื่อยๆ เนื่องจากภาวะขาดแคลน ผลจากการใช้พลังงานพวกนี้ก่อให้เกิดมลพิษและผลกระทบในด้านต่างๆ ตั้งแต่ระดับท้องถิ่นไปจนถึงระดับโลก

และที่สำคัญกลุ่มพลังงานเหล่านี้ ถูกผูกขาดโดยกลุ่มบริษัทเอกชนไม่กี่ตระกูล หากเราใช้พลังงานหมุนเวียน ซึ่งได้แก่ แสงอาทิตย์ ลม ชีวมวล ซึ่งมีมากมายและมีหมุนเวียนกลับมาใหม่ ราคาจะถูกลงไปเรื่อยๆ เนื่องจากเป็นทรัพยากรที่มีเหลือเฟือ ก่อใมลพิษน้อยกว่า ที่สำคัญผูกขาดได้ยาก

พลังงานหมุนเวียนนับเป็นทางออกที่สำคัญ เพราะไม่สามารถผูกขาดได้ ทำให้มีผู้เสียประโยชน์มากมาย ทำให้พลังงานหมุนเวียนหลายประเภทถูกกล่าวหาว่า ต้นทุนสูง มีราคาแพง เพราะหากมีการพัฒนาเทคโนโลยีและมีการนำมาใช้จริงจัง ก็จะทำให้ต้นทุนลดต่ำกว่าพลังงานน้ำมัน ถ่านหิน หรือก๊าซธรรมชาติอย่างชัดเจน

ในต่างประเทศผลจากการพัฒนาเทคโนโลยีและการนำมาใช้อย่างจริงจัง ทำให้สามารถคำนวณต้นทุนทางธุรกิจของพลังงานหมุนเวียนสูสีกับพลังงานน้ำมัน ถ่านหิน หรือก๊าซธรรมชาติ ดังนั้นไทยควรหันมาให้ความสำคัญกับการปรับเปลี่ยนทิศทางการพัฒนาพลังงานในอนาคต ให้ไปสู่ระบบพลังงานหมุนเวียนอย่างจริงจัง

อย่างไรก็ตามแม้ว่าพลังงานจะมีความสำคัญก็ตาม แต่วิถีชีวิต พฤติกรรม หรือภูมิปัญญาชาวบ้านเกี่ยวกับการใช้พลังงาน ก็มีอิทธิพลต่อรูปแบบการใช้พลังงานอีกด้วย

ดังนั้นการวางแผนพลังงานไม่ควรใช้การประมาณความต้องการพลังงานเพียงด้านเดียว กลุ่มประชาคมท้องถิ่นโดยเฉพาะในทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ได้ทำความเข้าใจ และวิเคราะห์ความต้องการพลังงานในระดับท้องถิ่นของตน จากนั้นหาทางเลือกและนำไปปฏิบัติให้สอดคล้องกับวิถีชีวิต ความเชื่อ พฤติกรรม และภูมิปัญญาชาวบ้าน โดยเริ่มจากระดับตำบล และขยายเชื่อมโยงไปสู่ระดับจังหวัด ทำให้เกิดแนวทางใหม่ๆ ในการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรท้องถิ่น รวมทั้งก่อให้เกิดประโยชน์ในการจัดการขยะและลดมลพิษในด้านต่างๆ อีกด้วย

ถึงแม้ว่าชุมชนอื่นๆ จะสามารถริเริ่มกระบวนการวางแผนพลังงานสำหรับท้องถิ่นเองได้ แต่รัฐจำเป็นต้องสร้างความเข้าใจให้กับกลุ่มต่างๆ ในสังคม เพื่อให้มีการความเข้าใจและขยายผลในท้องถิ่น เช่น ควรจัดให้มีเวทีสังเคราะห์ความเห็น เชิญผู้รู้ไปให้ความรู้และแลกเปลี่ยน เผยแพร่เนื้อหาและประเด็นทั้งในแผนงานหลักและแผนทางเลือกต่างๆ

เนื่องจากเป็นกระบวนการร่วมกันในสังคม การศึกษาวิเคราะห์ทางเลือกในการวางแผนพลังงาน จึงไม่ใช่ความรับผิดชอบของฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง ทุกฝ่ายจึงต้องมีบทบาทหน้าที่เท่าเทียมกัน

ดังปรากฏเป็น 1 ใน 9 เจตนารมณ์สร้างสังคมอยู่เย็นเป็นสุขว่า "เราจะร่วมกันผลักดันให้มีนโยบายสาธารณะ ที่มุ่งสร้างเสริมความพอดีพอเพียงและสมดุลเพื่อความอยู่เย็นเป็นสุข ลด ควบคุม และป้องกันความอยู่ร้อนนอนทุกข์ และปัจจัยที่ก่อให้เกิดความอยู่ร้อนนอนทุกข์ทั้งในระดับท้องถิ่นและระดับชาติ"

หมวดหมู่ของข่าว: 

เนื้อหาข่าวเป็นการรวบรวมเพื่อการศึกษาวิจัยเท่านั้น อันเป็นประโยชน์ต่อสาธารณะ มิได้นำไปเพื่อการค้าแต่อย่างใด