ราคารับซื้อต่ำผิดปกติจับตามีราคารอบ2
บริษัทส่งเสริมธุรกิจเกษตรกรไทย (สธท.) เริ่มขับเคลื่อนโครงการส่งเสริมการเลี้ยงโคเนื้อล้านครอบครัว หลัง ครม.มีมติ "เคาะ" ราคารับซื้อวัวเข้าร่วมโครงการในราคา "-5 บาท" จากราคาตั้งต้นของกระทรวงเกษตรฯ วงการค้าวัวฟันธง ซื้อวัวได้ไม่ถึงเป้า 500,000 ตัวแน่ เพราะราคาต่ำกว่าราคาตลาด หวั่น ครม.มีรอบ 2 ตั้งราคาซื้อวัวเพิ่ม โดยอ้างราคาซื้อรอบแรกไม่จูงใจ จับตางานนี้มี วัวนุ่งโสร่ง พร้อมตบเท้าเข้าร่วมโครงการ
ผู้สื่อข่าว "ประชาชาติธุรกิจ" รายงานถึงโครงการส่งเสริมการเลี้ยงโคเนื้อล้านครอบครัว หลังคณะรัฐมนตรีมีมติให้ความเห็นชอบราคารับซื้อโคเนื้อ (ราคาเนื้อที่กำหนดรับซื้อ) ที่จะให้เกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการ "ยืม" ไปเลี้ยงว่า ครม.มีมติให้กำหนดราคารับซื้อโคเนื้อ "ต่ำกว่า" ราคาที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์เสนอ -5 บาท (ตารางประกอบ) ส่งผลให้ราคารับซื้อโคเนื้อต่อ ก.ก.ลดลง ทั้งโคพื้นเมือง/ลูกผสมพื้นเมือง, โคลูกผสมพันธุ์บราห์มัน และโคลูกผสมพันธุ์ชาร์โรเลส์ ซึ่งจะมีผลต่อการรับซื้อวัวเข้าโครงการนี้โดยตรง
ทั้งนี้โครงการส่งเสริมการเลี้ยงโคเนื้อล้านครอบครัว จะดำเนินการภายใต้การบริหารงานของบริษัทส่งเสริมธุรกิจเกษตรกรไทย หรือ สธท. (บริษัท SPV หรือ Special Purpose Vehicle ตามมติ ครม.) ในลักษณะของหน่วยงานรัฐวิสาหกิจของกระทรวงเกษตรฯ ซึ่งบุคลากรใน สธท.ปัจจุบันล้วนแล้วแต่ขอยืมตัวมาจากธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ทั้งสิ้น
สำหรับสถานะโครงการล่าสุด ได้เปลี่ยนจากการนำลูกวัวที่เกิดจากการ "ผสมเทียม" มาให้เกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการกับ สธท.เลี้ยง มาเป็น สธท.ซื้อวัวจากผู้ประสงค์จะขายในพื้นที่ที่เดียวกับที่เกษตรกรอยู่ มาให้เกษตรกร "ยืม" เลี้ยงตามระยะเวลาที่กำหนด โดยเกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการจะต้องมีคุณสมบัติประกอบไปด้วย
1)เป็นเกษตรกรที่ขึ้นทะเบียนคนจน 2)ให้ใช้พื้นที่ที่จังหวัดที่เกษตรกรอยู่เป็นตัวตั้งรับซื้อโค และให้เกษตรกรในพื้นที่ยืมเลี้ยง ไม่ให้มีการรับซื้อวัวข้ามเขตหรือให้เกษตรกรยืมข้ามที่ตั้ง 3)กำหนดคุณลักษณะของโคเนื้อที่จะรับซื้อเข้าโครงการ 4)รับซื้อโคเนื้อเพียงราคาเดียวทั่วประเทศ 5)กำหนดรับซื้อโคเนื้อเป็นช่วงๆ ถ้าราคาสูงกว่าราคาที่กำหนดให้หยุดการรับซื้อ และ 6)เกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการต้องมีการเตรียมความพร้อมก่อนที่จะรับโคไปเลี้ยง
ส่วนผู้ที่ประสงค์จะขายวัวให้กับ สธท.จะต้องขึ้นทะเบียนเป็นผู้เลี้ยงวัวกับกรมปศุสัตว์เสียก่อน โดย สธท.ได้ตั้งเป้าที่จะรับซื้อวัวในปีแรก (2549) ให้ได้ 500,000 ตัว ขั้นตอนในการรับซื้อวัวจะต้องเป็นโคพื้นเมือง/ลูกผสมพื้นเมือง, โคลูกผสมบราห์มัน และโคลูกผสมชาร์โรเลส์ กำหนดราคารับซื้อราคาเดียว (ตามมติ ครม.) มีคณะกรรมการบริหารโครงการระดับจังหวัด (ผู้ว่าฯเป็นประธาน) เป็นผู้ดูแล
"จังหวัดจะเป็นผู้ประกาศขึ้นทะเบียนผู้ที่มีความประสงค์จะขายโคให้บริษัท (supply side) กับเกษตรกรที่ประสงค์จะเข้าร่วมโครงการเลี้ยงวัว (demand side) เมื่อมีผู้ประสงค์จะขายมาแสดงตัวจะมีคณะกรรมการเข้าไปตรวจสอบคุณลักษณะของวัว เมื่อได้คุณสมบัติครบถ้วน ก็จะส่งมอบวัวให้ เกษตรกรที่ประสงค์จะเลี้ยง ซึ่งจะมีคณะกรรมการอีกชุดหนึ่งเป็นผู้รับมอบ ส่วนกรณีที่จำนวนโคเนื้อมีน้อยกว่าจำนวนเกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการในจังหวัดนั้นๆ จะใช้วิธีจับสลาก ไม่มีการรับซื้อหรือส่งมอบวัวข้ามเขตโดยเด็ดขาด" ผู้บริหารโครงการ SPV กล่าว
ทางด้านแหล่งข่าวจากวงการค้าวัวให้ความเห็นกับ "ประชาชาติธุรกิจ" ว่า การประกาศราคารับซื้อวัวเข้าร่วมโครงการเป็น "ราคาเดียว" ตามมติ ครม.ข้างต้น นับเป็นเรื่องที่มีเงื่อนงำพอสมควร เนื่องจากราคาที่ประกาศออกมาดังกล่าวจัดเป็นราคาที่ไม่จูงใจให้เกิดการซื้อขายวัวขึ้น เพราะต่ำเกินกว่าราคาตลาด จะเห็นได้ว่าราคาก่อนหน้านี้ตามข้อเสนอของกระทรวงเกษตรฯ (ตามตารางประกอบ) ที่บวกขึ้นไป 5 บาท/ก.ก.นั้น เป็นราคาที่จูงใจมากกว่า
"ประเด็นก็คือ รู้ว่าไม่จูงใจให้คนจูงวัวมาขายให้กับ SPV แล้ว ทำไปทำไม ผมการันตีเลยว่า ถ้าใช้ราคาตามมติ ครม. บริษัท สธท.จะไม่สามารถรับซื้อวัวมาให้เกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการเลี้ยงครบ 500,000 ตัวตามที่ตั้งเป้าหมายไว้ได้ ตรงนี้มองได้ 2 มุม คือ เป็นเจตนาดีที่จะป้องกันไม่ให้ผู้เลี้ยงวัวแบบฟาร์มรายใหญ่นำวัวของตนมาสวมขายเข้าโครงการ เพราะราคารับซื้อเนื้อไม่จูงใจ กับอีกเหตุผลหนึ่งก็คือ ตั้งราคารับซื้อไว้ต่ำเพื่อจะได้ตั้งราคาในรอบต่อไปให้สูงเกินจริง โดยอ้างว่าราคารับซื้อรอบแรกไม่มีใครนำวัวมาขายเข้าโครงการ เสร็จแล้วค่อยปล่อยให้มีการซิกแซ็กนำวัวมาสวมภายหลัง" แหล่งข่าวกล่าว
อย่างไรก็ตาม เป็นที่น่าสังเกตว่าตัวบริษัท SPV หรือ สธท.เอง ก็ไม่อยากที่จะดำเนินการซื้อวัวมาให้เกษตรกรเข้าร่วมโครงการเลี้ยง เพราะทุกคนทราบดีว่าวิธีการเปลี่ยนไปจากเดิมที่จะใช้การผสมเทียม เนื่องมาจากเหตุผลทางการเมือง จะเห็นได้ว่าตามแผนการดำเนินธุรกิจของ สธท.เอง ยอมให้มีการซื้อวัวเข้าโครงการเฉพาะการดำเนินการในปีแรก (2549) เท่านั้น พอขึ้นปีที่ 2 จะแบ่งครึ่งจำนวนวัวที่เข้าร่วมโครงการออกเป็นครึ่งๆ กล่าวคือ 350,000 ตัวแรกมาจากการรับซื้อ ส่วนอีก 350,000 ตัวหลังมาจากการผสมเทียม ส่วนปีที่ 3 จะใช้วิธีผสมเทียมให้เกษตรกรยืมเลี้ยงทั้งหมด
ส่วนเรื่องที่น่าเป็นห่วงในขณะนี้ก็คือ ตัว สธท. เองยังไม่มีแผนทางการตลาดที่ชัดเจนว่าจะจัดการกับวัวที่เกษตรกรยืมไปเลี้ยงแล้วนำมาขายคืนให้กับ สธท.อย่างไร ในข้อเสนอการซื้อวัวของกระทรวง เกษตรฯที่เข้า ครม.ก็ไม่มีรายละเอียดในเรื่องนี้ ตัวเกษตรกรเองก็ยังไม่มีความเข้าใจว่าโครงการนี้ให้ "ยืม" วัวมาเลี้ยง ไม่ได้ "แจก" ฟรีแบบที่นักการเมืองเข้าไปหาเสียง ดังนั้นการเลี้ยงวัวในโครงการนี้จึงมีความเสี่ยงที่แม้แต่บริษัทรับประกันภัยเองก็ยังไม่มีบริษัทไหนกล้าเข้ามาประกันโค
ล่าสุดมีรายงานเข้ามาว่า มีนักการเมืองหลายรายที่เป็นผู้กว้างขวางในธุรกิจเลี้ยงวัวพยายาม "วิ่ง" ที่จะนำวัวของตัวเองมาสวมเข้าโครงการให้ได้ โดยวัวเหล่านี้ส่วนใหญ่มีที่มาจากการลักลอบนำเข้าผ่านทางชายแดนเพื่อนบ้าน พฤติกรรมดังกล่าวได้สร้างความวิตกให้กับผู้เกี่ยวข้องในโครงการนี้มาก