พิพากษาจินตนา พิพากษารัฐธรรมนูญ

รัฐธรรมนูญ ตอนที่ 2 :

จินตนา แก้วขาว ชื่อที่อาจจะพอคุ้นๆ อยู่บ้างสำหรับคนที่ติดตามเรื่องการขบวนการของภาคประชาชน สิ่งแวดล้อม และผลกระทบจากโครงการของรัฐ เธอเป็นหนึ่งในแกนนำชาวบ้านบ่อนอกซึ่งต้องลุกขึ้นมาประท้วงโรงไฟฟ้าถ่านหินที่จะมาตั้งโครงการที่บ้านของเธอ

เธอและชาวบ้านบ่อนอกเลือกสารพัดวิธีการเพื่อเสดงออกว่า ?ไม่เอาโรงไฟฟ้า? รวมถึงการเข้าไปในงานเลี้ยงของ บ. ยูเนี่ยนพาวเวอร์ ดิเวลลอปเมนท์ ผู้รับสัมปทานโครงการ พร้อมทั้งซากปลา และสิ่งเน่าเสียเทลงบนโต๊ะในงานเลี้ยงคืนนั้น แม้ในที่สุดโครงการโรงไฟฟ้ามีอันต้องพับเก็บไป แต่เธอต้องถูกฟ้องบริษัทดังกล่าวฟ้อง ?ละเมิด?

ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง โดยวินิจฉัยว่าการกระทำของเธอเป็นการใช้สิทธิตามรัฐธรรมนูญเพื่อจะปกป้องสิ่งแวดล้อมในชุมชนของตน ชั้นอุทธรณ์ ศาลกลับคำพิพากษาศาลชั้นต้นโดยมิได้วินิจฉัยในประเด็นเรื่องสิทธิตามรัฐธรรมนูญ (อ่านรายละเอียดจากบทความ ?คำพิพากษาคดีจินตนา แก้วขาว?โดย นิธิ เอียวศรีวงศ์ มติชนรายวัน วันที่ 24 ตุลาคม พ.ศ. 2548 ปีที่ 28 ฉบับที่ 10089 )

งานเสวนา ?พิพากษาจินตนา พิพากษารัฐธรรมนูญ? จึงถูกจัดขึ้น ในวันรัฐธรรมนูญ โดยความร่วมมือระหว่างสมาคมนักข่าวกับมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน เพื่อเป็นบทสอบทานกระบวนการยุติธรรมไทยภายใต้รัฐธรรมนูญฉบับประชาชนซึ่งบัญญัติรองรับสิทธิเสรีภาพของประชาชนอย่างเข้มข้นที่สุดเท่าที่เคยมีมา

ผู้ร่วมเสวนาประกอบด้วย ไพโรจน์ พลเพชร และ สมชาย หอมละออ จากสมาคมสิทธิเสรีภาพของประชาชน ศ. ดร.คณิต ณ นคร ผศ.ดร. บรรเจิด สิงคะเนติ จากคระนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และ อาจารย์สมชาย ปรีชาศิลปกุล จากภาควิชานิติศาสตร์ คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

ผลการเสวนามีประเด็นหลักๆ คือ ปัญหาเรื่องสิทธิเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2540 ไม่ใช่ปัญหาที่ตัวบทบัญญัติ แต่เป็นปัญหาที่เกิดจากการใช้การตีความ ซึ่งเป็นปัญหามาจาก ?ฐานคิด? เกี่ยวกับเสรีภาพของสังคมไทยเอง ไม่ว่าในระบบของศาล ระบบการเรียนการสอนนิติศาสตร์ไทย และตัววัฒนธรรมของไทยเอง ซึ่งยึดโยงอยู่กับ ?รัฐ? มากกว่า ?ประชาชน?

หากใจเย็นพอ การรอคอยก็เป็นเรื่องธรรมดา เพียงแต่วงเสวนาวงนี้ให้ข้อมูลว่า ระหว่างการสร้างวัฒนธรรมและฐานคิดในการเคารพสิทธิเสรีภาพประชาชนนั้น ผู้ที่ทำหน้าที่ถมตัวลงไปเป็นอิฐก้อนแรกก็คือ ชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบจากการกระทำอันปราศจากรากฐานทั้งโลกทัศน์และชีวทัศน์ของเจ้าหน้าที่รัฐนั้นเอง

?ขณะนี้ เรามีตัวบทกฎหมายขึ้นมา แต่เรายังต้องสู้ต่อไปในแง่ของการสร้างทัศนคติเรื่องสิทธิเสรีภาพและวัฒนธรรมในทางกฎหมายซึ่งอยู่ระหว่างกระบวนการที่ต้องสร้างขึ้น และพี่น้องประชาชนนั่นเองมีส่วนในการที่จะสร้างวัฒนธรรมกฎหมายเรื่องสิทธิเสรีภาพ เพื่อให้มันขึ้นไปสู่องค์กรที่เขาใช้กฎหมายให้มีทัศนคติมุมมองเรื่องสิทธิเสรีภาพ...ผมว่าสิ่งเหล่านี้ต้องใช้เวลา เพียงแต่ผมไม่แน่ใจว่านอกเหนือจากเวลาแล้วอาจจะชีวิตของผู้คนอีกมากมายแค่ไหน? คำกล่าวของ ผศ.ดร. บรรเจิด สิงคะเนติ ที่กล่าวขึ้นเป็นประโยคเกือบท้ายสุดของวงเสวนาคงเป็นตอบแทนสภาพการณ์และแนวโน้มของ ?สิทธิเสรีภาพของประชาชนไทยภายใต้รัฐธรรมนูญ 2540? ได้ชัดเจนเพียงพอ

หมวดหมู่ของข่าว: 

เนื้อหาข่าวเป็นการรวบรวมเพื่อการศึกษาวิจัยเท่านั้น อันเป็นประโยชน์ต่อสาธารณะ มิได้นำไปเพื่อการค้าแต่อย่างใด