8 มกราคม 2549 22:59 น. คาดกลางปี 50"บุช?ทักษิณ"ลงนามเอฟทีเอไทยกับสหรัฐฯ จับตาศึก 2 คณะเจรจาเดือดไทยดิ้นสุดฤทธิ์ยึดกรอบออสเตรเลียต่อรอง เปิดเสรีการบริการ-ลงทุนทุกสาขา แต่ถือหุ้นไม่เกิน 50 % เน้นป้องกิจการโทรคมนาคมพิเศษ แต่ปิดตายไม่เปิดเสรี 4 ธุรกิจ คือ สุรา,หนังสือพิมพ์,โรงเรียน และท่องเที่ยว ส่วนสาขาการเงินเปิดเป็นรายสาขา มีมาตรการห้ามเลือด และระยะเวลาปรับตัวเฉพาะไม่เปิดยกเข่ง นักกฎหมายซัดไม่ผ่านรัฐสภา ทำกับละเมิดพระราชอำนาจ จี้รัฐแก้ไขก่อนเสียค่าโง่เหมือนสนธิสัญญาบาวริ่ง เตรียมส่งจม.ถึงผู้แทนการค้าสหรัฐฯ ขอให้เลิกทำสัญญา ด้านเอ็นจีโอย้ำจุดยืนค้านสุดตัว
แหล่งข่าวในคณะเจรจาการเปิดเขตการค้าเสรีไทย-สหรัฐฯ เปิดเผยว่า จากการประเมินเชื่อว่าการเจรจาจะต้องดำเนินการให้เสร็จสิ้นภายในสิ้นปีนี้ ในรูป Text เพื่อให้ทั้งสองฝ่าย โดยสหรัฐฯจะนำไปเข้าสภา ซึ่งจะใช้เวลาประมาณ 2-3 เดือน ส่วนฝ่ายไทยก็จะเข้าสภาเช่นกัน แต่จะเป็นเฉพาะเรื่องที่จะต้องมีการแก้ไขกฎหมาย หรือ พ.ร.บ. บางอย่างเท่านั้น เพื่อให้สอดคล้องกับข้อตกลงเอฟทีเอ ซึ่งอาจจะลงนามกันได้ระหว่างพ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี และ ประธานาธิบดีจอร์จ ดับเบิลยู บุช แห่งสหรัฐฯ กลางปี 2550
การเงินเจรจารายตัวเน้นมาตรปกป้อง
แหล่งข่าวรายเดิมเปิดเผยอีกว่า ในการประชุมที่ จ.เชียงใหม่ ทั้งสองฝ่ายกำลังคุยกันในตัว Text ซึ่งฝ่ายไทยต้องการเปิดเสรีเป็นราย sector แต่ทางฝ่ายสหรัฐฯต้องการให้เปิดเต็มที่ทั้งหมด โดยเฉพาะในภาคการลงทุน การบริการและ ภาคการเงิน ซึ่งฝ่ายไทยก็พยายามแลกเปลี่ยนคุยกับฝ่ายสหรัฐฯ ว่าสนใจสาขาการบริการการลงทุนอะไรบ้าง แต่สิ่งที่ฝ่ายภาคเอกชนของเราเน้นคือ หากเปิดแล้วต้องมีมาตรการปกป้องหรือมาตรการห้ามเลือดในภาคการเงิน เช่น มาตรการห้ามเคลื่อนย้ายทุนในภาวะประเทศขาดดุลชำระเงินอย่างรุนแรง พร้อมกับจะต้องมีระยะเวลาเพียงพอสำหรับบางสาขาย่อยที่จะต้องมีเวลาปรับตัว ซึ่งสหรัฐฯคงไม่ขัดในหลักการ แต่ในรายละเอียดจะยอมอ่อนท่าทีมากน้อยเพียงใดยังตอบไม่ได้ แต่ที่สำคัญข้อตกลงทางด้านการลงทุนทั้งหมดฝ่ายไทยจะยึดกรอบแนวเดียวกับการเปิดเขตการค้าเสรีไทย ?ออสเตรเลียเป็นหลัก
ขณะที่กรอบการเจรจาภาคการลงทุนและบริการตามกรอบไทย?ออสเตรเลีย(TAFTA) เปรียบเทียบหากเปิดเสรีสหรัฐฯ คนสหรัฐฯสามารถลงทุนได้ไม่เกิน 50 % ในธุรกิจทุกประเภท ยกเว้นธุรกิจตามพ.ร.บ.ประกอบธุรกิจคนต่างด้าว พ.ศ.2542 เช่น หนังสือพิมพ์ ,สุรา ,โรงเรียน และธุรกิจนำเที่ยว หรือหาข้อตกลงมีผล คนสหรัฐฯ สามารถลงทุนได้ถึง 60 % ในบางธุรกิจที่จดทะเบียนจัดตั้งในไทย และมีสัดส่วนหนี้สินต่อทุนไม่เกิน 3.1 ใน 9 สาขาบริการ (ธุรกิจ สื่อสาร ,ก่อสร้าง ,จัดจำหน่าย, การศึกษา, การท่องเที่ยวและเดินทาง ,นันทนาการ ,ขนส่ง และการลงทุนเหมืองแร่)ขณะที่สาขาที่สหรัฐฯ ถือสัดส่วนได้ 100% คือ 1. บริการธุรกิจ (ที่ปรึกษาด้านการจัดการทั่วไป) 2. บริการก่อสร้าง (เพื่อสาธารณูปโภค โดยต้องมีทุน 1,000 ล้านบาทขึ้นไป) 3. บริการจัดจำหน่าย (สำหรับจัดจำหน่าย และติดตั้งผลิตภัณฑ์ที่ผลิตจากโรงงานประเทศสหรัฐฯในไทย) รวมถึงธุรกิจขนาดใหญ่ ใช้วิทยาการสูง
อย่างไรก็ตาม สาขาบริการสื่อสาร คนสหรัฐฯ ถือสัดส่วนได้ไม่เกิน 50 % ขณะที่ภาคสินค้า (Non-service Sectors) : Manufacturing ทั้งหมด (ซึ่งไม่อยู่ในพ.ร.บ.ธุรกิจคนต่างด้าว )คนสหรัฐฯ ถือสัดส่วนได้ไม่เกิน 50%
ทั้งนี้ในข้อตกลงกับออสเตรเลียนั้น ฝ่ายออสเตรเลีย ระบุถึง การบริการทางการเงิน :ไม่ครอบคลุมในข้อตกลง FTA ไทย ?ออสเตรเลีย(TAFTA) 1. บริการประกันภัย ต้องขออนุญาตเป็นกรณีไป 2. บริการธนาคาร ต้องขออนุญาตเป็นกรณีไป และต้องทำตาม Banking Act
**คุ้มครองพันธุ์พืชยึดกฎหมายไทย
แหล่งข่าวคณะเจรจาฯระบุต่อว่า ส่วนเรื่อง ความหลากหลายทางชีวภาพฝ่ายประเทศไทยจะพยายามถึงที่สุดที่จะยึด พ.ร.บ. คุ้มครองพันธุ์พืชและสัตว์ ปี 2522 เป็นหลักเพราะถือว่าเป็นกฎหมายที่ดีที่สุดแล้วไม่ยอมรับข้อเสนอที่สหรัฐฯจะบีบให้เข้าสนธิสัญญาระหว่างประเทศในสนธิสัญญา UPOV ซึ่งผลที่ตามมาทางคือ ประเทศไทยอาจถูกยกเว้น Farm Saved Seed คือ การเก็บเมล็ดพันธุ์ไว้ขยายพันธุ์ต่อ ภายหลังการจำหน่ายและเพาะปลูก ซึ่งบริษัทใหญ่เห็นช่องทางการแสวงหาประโยชน์ ต้องการเข้ามาควบคุมผูกขาดการขยายพันธุ์ ทำให้พืชพันธุ์เหล่านี้ กลายเป็นหมัน หรือ ปลูกได้เพียงครั้งเดียว
และยังจะบังคับประเทศไทยให้ออกกฎหมาย ห้ามเกษตรกรเก็บหรือใช้เมล็ดพันธุ์ ต้องซื้อเมล็ดพันธุ์ที่มีสิทธิบัตรและจดทะเบียนแล้วเท่านั้น และต้องเปิดเสรีการนำเข้า ปลูก ซื้อ และบริโภค พืชตัดแต่งพันธุกรรม(จีเอ็มโอ) อย่างเสรี ไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้ ยกเว้นแต่จะมีข้อพิสูจน์ทางวิทยาศาสตร์ได้ว่า พืชจีเอ็มโอชนิดนั้นมีโทษ ซึ่งในทางปฎิบัติเป็นเรื่องยากในการพิสูจน์ ตรวจสอบ ศึกษาผลกระทบของพืชจีเอ็มโอเป็นรายชนิดพืช เป็นกรณีไป ไม่สามารถเหมารวมครอบจักรวาลในการพิสูจน์พืชทั้งหมดได้
ขณะที่เรื่องสิทธิบัตรยา ทางไทยยังมีท่าทีขอให้อยู่ใต้กรอบองค์การการค้าโลก(WTO) แม้สหรัฐฯจะผลักดันให้ไทยปล่อยให้ราคายาเป็นไปตามกลไกตลาด และแก้ไขกฎหมายความลับทางการค้า พ.ศ. 2545 ทั้งต้องให้มีมาตรการทางกฎหมายเอาผิดลงโทษอย่างรุนแรงหากมีการละเมิดลิขสิทธิโดยไม่จำเป็นต้องผ่านกระบวนการทางศาล
**ปชป.จี้ รัฐบาล เผยเงื่อนไขเจรจา
นายเกียรติ สิทธีอมร ส.ส.ระบบบัญชีรายชื่อ และคณะทำงานด้านเศรษฐกิจ พรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงกรณีรัฐบาลไทยเตรียมเจรจาเปิดเขตการค้าเสรี หรือ เอฟทีเอ กับสหรัฐอเมริกา รอบที่ 6 ที่จะมีขึ้นในวันที่ 9-13 ม.ค.นี้ ที่ จ.เชียงใหม่ว่า การผลักดันเจรจาทำเอฟทีเอกับสหรัฐฯ ของรัฐบาลเป็นการเจรจาที่มีข้อตกลงว่ าจะไม่เปิดเผยรายละเอียดข้อตกลงต่างๆ จนกว่าจะมีการลงนามให้สาธารณชนได้รับรู้ อีกทั้งข้อตกลงดังกล่าว เป็นข้อตกลงที่รัฐบาลไม่นำเสนอต่อที่รัฐสภาก่อน จึงเป็นสาเหตุของการประท้วงโดยกลุ่มต่างๆ ทั้งเกษตรกร เอ็นจีโอ เพราะไม่ไว้วางใจต่อรัฐบาลที่ไม่เปิดเผยข้อมูล และไม่รับฟังความคิดเห็น นอกจากนี้นายกรัฐมนตรียังอ้างว่าหากไม่ทำเอฟทีเอกับสหรัฐฯ ประเทศไทยจะไม่สามาถแข่งขันทางธุรกิจได้ เพราะประเทศอื่นเสียภาษีต่ำกว่าไทย ทำให้เราขาดดุล หรือเสียโอกาสทางการค้าถึง 7,000 ล้านเหรียญ แต่ทำไมเมื่อไทยมีภาษีสูงกว่าสหรัฐฯ ทำไม่ไม่ชี้ผลการศึกษาให้ประชาชนเห็นว่า สินค้านำเข้าไทยจะเพิ่มเป็นมูลค่าเท่าไร ซึ่งโดยหลักทฤษฏีและผลทางปฏิบัติที่ผ่านมาไทยจะขาดดุลมากขึ้น จึงอยากเรียกร้องให้รัฐบาล มีความชัดเจนในเรื่องนี้
"ประเทศที่เราเจรจาด้วยเขานำเรื่องผ่านสภาหมดทุกประเทศ ทั้ง ออสเตรเลีย สหรัฐฯ หรือแม้แต่นิวซีแลนด์ ที่เขานำเรื่องผ่านสภาหมด ทำไมประเทศไทยเป็นประเทศเดียวในโลกที่มีความพยายามโดยรัฐบาลไม่ผ่านข้าสภา แต่ก็ไปตีความรัฐธรรมนูญแบบศรีธนญชัย ซึ่งมาตรา 224 ระบุไว้ชัดเจนว่า หากมีการนำเรื่องผ่านสภา แต่ผมไม่ทราบว่ากลัวอะไร ที่ไม่ยอมนำเรื่องเข้าสภา แต่จะทำให้มีความละเอียดถี่ถ้วนมากขึ้น ทำให้ส.ส.ที่มาจากประชาชน มีโอกาสได้เห็นเนื้อหาสาระที่จะไปเจรจากับเขา แต่รัฐกลับพยายามปิดบังเนื้อหาที่จะไปเจรจากับสหรัฐฯ จนกว่าจะลงนาม อย่างนี้เขาเรียกปิดตาชาวบ้าน และทำให้เราไม่ไว้วางใจรัฐในการเจรจา" นายเกียรติ กล่าว
นายเกียรติ กล่าวอีกว่า จากการเจรจากับสหรัฐฯ จะเห็นได้ว่าสหรัฐฯ เรียกร้องเงื่อนไขที่ไทยผูกพันไว้กับองค์การการค้าโลก(WTO) พ.ศ.2537 โดยหากไทยยอมคำตามคำเรียกร้องของสหรัฐฯ เท่ากับว่าไทยยอมให้เงื่อนไขเดียวกับอีก 146 ประเทศสมาชิก อีกทั้งสหรัฐฯ ยังเรียกร้องการคุ้มครองเพิ่มมากขึ้น ซึ่งจะจำกัดการเข้าถึงข้อมูลและเทคโนโลยี ส่งผลกระทบต่อราคายา โดยเฉพาะยารักษาโรคเอดส์ ที่ต้นทุนต้องสูงขึ้นถึง 25 เท่า ซึ่งข้อมูลการศึกษาชี้ชัดว่า ไทยจะเสียเปรียบเพราะเรายังไม่พร้อมในทางยุทธศาสตร์ ซึ่งแม้ว่าจะมีหลายทางเลือก แต่รัฐบาลยังไม่ตัดสินใจ และยังไม่จัดสรรงบประมาณ
อย่างไรก็ตาม ในด้านของการปรับโครงสร้างภายในไทยมีกรอบแผนปรับโครงสร้างที่เป็นกรอบกว้าง แต่การศึกษายังไม่ละเอียดเพียงพอ และงบประมาณยังไม่ชัดเจนว่าจะไปทำโครงการอะไรบ้าง
ด้านคุณหญิงกัลยา โสภณพนิช ส.ส.ระบบบัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า จากการที่หลายฝ่ายออกมาเตือนและเรียกร้องให้นายกรัฐมนตรีทบทวนการเร่งรัดผลักดันการเจรจาทำข้อตกลง เอฟทีเอ เพราะทำให้ประเทศชาติเสียหาย จึงเรียกร้องให้รัฐสภามีบทบาทดูแลตรวจสอบเรื่องนี้ นายกฯ หมดความชอบธรรมที่จะบริหารงานต่อไป เพราะจงใจฝ่าฝืนท้าทายรัฐธรรมนูญอย่างไม่สะทกสะท้าน เชื่อว่าที่ไม่กล้านำเรื่องเอฟทีเอ เข้าสภาเพราะกลัวความจริงปรากฏจนถูกส.ส.คัดค้านข้อตกลงการเจรจา และเท่ากับว่า นายกฯมีอำนาจหยุดพักใช้รัฐธรรมนูญได้ และจงใจละเมิดรัฐธรรมนูญอย่างชัดเจน ไม่ยอมรักษากติกา รวมทั้งกระทบต่อพระราชอำนาจอย่างชัดเจน ดังนั้นการเจรจาเอฟทีเอที ที่จะมีขึ้นจะต้องมีการติดตาม และรวมพลังคัดค้านการกระทำใดๆ ที่จะนำอธิปไตยของคนไทยไปแลกเปลี่ยน เพื่อให้คนหยิบมือเดียวได้ประโยชน์
เอ็นจีโอย้ำจุดยืนค้านสุดตัว
นายสุริยันต์ ทองหนูเอียด ที่ปรึกษาสหพันธ์เกษตรกรภาคเหนือ(สกน.) เปิดเผยว่า ในระหว่างการเจรจาเอฟทีเอระหว่างไทยกับสหรัฐอเมริกา รอบ 6 ระหว่างวันที่ 9-13 ม.ค.49 ที่จังหวัดเชียงใหม่ สกน.จะเคลื่อนไหวร่วมกับเครือข่ายภาคประชาชน 11 องค์กร เช่น เครือข่ายผู้บริโภค เครือข่ายผู้ติดเชื้อ เครือข่ายเกษตรกรทางเลือก ด้วยการรวมตัวชุมนุม ที่บริเวณสถานที่จัดการประชุม เพื่อแสดงจุดยืนให้มีการล้มเลิกการเจรจาเอฟทีเอ ระหว่างไทยกับสหรัฐอเมริกา อย่างเด็ดขาด
ทั้งนี้ เครือข่ายองค์กรภาคประชาชน 11 องค์กร ได้เริ่มกิจกรรมเคลื่อนไหวคัดค้านตั้งแต่คืนวันที่ 7 ม.ค.ที่ผ่านมา โดย ตัวแทนเครือข่ายได้ออกแจกจ่ายข้อมูลและฉายภาพยนตร์ ที่เกี่ยวกับผลกระทบจากการเจรจาเอฟทีเอ ที่บริเวณหน้าศูนย์การค้า 12 ห้วยแก้ว เพื่อให้ประชาชนได้รับทราบข้อเท็จจริง ก่อนที่การเจรจาจะเริ่มต้นวันนี้ (9 ม.ค.)
สำหรับการร่วมคัดค้านของกลุ่มองค์กรภาคประชาชนครั้งนี้ กลุ่มแกนนำเครือข่ายฯ ระบุว่า จะมีประชาชนที่คัดค้านการทำเอฟทีเอจากทั่วประเทศ มารวมตัวกันนับหมื่นคน เพื่อชุมนุมคัดค้านการเจรจาอย่างสันติ บริเวณโรงแรมที่ใช้เป็นสถานที่จัดการประชุม พร้อมทั้งจะยื่นหนังสือประท้วงผ่านกงสุลสหรัฐ ประจำจังหวัดเชียงใหม่ด้วย เพราะเห็นว่าไทยเป็นฝ่ายเสียเปรียบทุกด้าน หากทั้งสองประเทศบรรลุข้อตกลงในการเจรจา
"เป้าหมายและจุดยืนขององค์กรภาคประชาชน คือ ไม่ต้องการให้มีการเจรจา และทำข้อตกลงการค้าเสรีกับสหรัฐฯเกิดขึ้น เพราะชาวบ้านจะเป็นผู้ที่ได้รับความเสียหายอย่างรุนแรงที่สุด ส่วนนักการเมืองที่พยายามไม่เคยได้รับความเสียหายอะไรอยู่แล้ว แต่ไม่รู้เหมือนกันว่าท้ายที่สุดแล้วจะทำได้มากน้อยแค่ไหน" นายสุริยันต์ กล่าว
ขณะที่นายนิมิตร เทียนอุดม ผู้อำนวยการมูลนิธิเข้าถึงเอดส์ กล่าวว่า เครือข่ายผู้ติดเชื้อเอชไอวีแห่งประเทศไทย ซึ่งมีสมาชิกเป็นเครือข่ายผู้ติดเชื้อกว่า 900 กลุ่ม ทั่วประเทศ และเข้าร่วมเคลื่อนไหวครั้งนี้ด้วย เบื้องต้นสมาชิกผู้ติดเชื้อประมาณ 3,000 คน จากทั่วประเทศ จะมาร่วมชุมนุม ที่จังหวัดเชียงใหม่ ตั้งแต่วันนี้(9 ม.ค.49) เนื่องจากเห็นว่าเอฟทีเอจะส่งผลกระทบต่อคนไทยหลายด้าน ซึ่งในประเด็นที่ผู้ติดเชื้อ ได้รับผลกระทบโดยตรงจะเกี่ยวข้องกับสิทธิบัตรยาต้านไวรัสเอดส์ ที่จะทำให้ยาต้านไวรัสที่ผู้ติดเชื้อ จำเป็นต้องใช้รักษาตัวมีราคาสูงขึ้น
ทั้งนี้หากมีการตกลงเอฟทีเอดังกล่าวขึ้น เชื่อแน่ว่าสหรัฐฯ จะพยายามให้ไทยยกเลิกการใช้ข้อบังคับตามกรอบ WTO ที่ยืดหยุ่นเกี่ยวกับสิทธิบัตรยา ซึ่งอนุญาตให้รัฐบาลของประเทศต่างๆ สามารถผลิตยาที่มีการจดสิทธิบัตรได้หากมีความจำเป็น ซึ่งหากเป็นเช่นนั้น จะทำให้ผู้ติดเชื้อในไทย มีภาระค่ายาเพิ่ม เพราะองค์การเภสัชกรรมจะไม่สามารถผลิตยาต้านไวรัสตัวใหม่ขึ้นมาใช้เองได้อีก นอกจากนี้ยังจะส่งผลกระทบไปถึงผู้บริโภคยาทุกชนิดด้วย
นายเอกชัย อิสระทะ เจ้าหน้าที่เครือข่ายเกษตรกรรมทางเลือก สาขาภาคใต้ กล่าวว่า สำหรับกลุ่มองค์กรภาคเอกชนในภาคใต้ ก็จะร่วมคัดค้านเอฟทีเอ-ไทย-สหรัฐฯ ด้วย โดยได้เดินทางไปสมทบประมาณ 300 คน
***จี้แก้ก่อนเสียค่าโง่
นายเจริญ คัมภีรภาพ รองอธิการบดีฝ่ายทรัพย์สินทางปัญญาและภูมิปัญญาท้องถิ่น มหาวิทยาลัยศิลปากร กล่าวว่า การเจรจาเอฟทีเอที่เชียงใหม่ที่จะมีขึ้นในวันที่
9-13 ม.ค. ถือเป็นครั้งสุดท้ายที่จะเจรจาในไทย ต่อไปก็ไปเจรจาที่สหรัฐโดยที่ไม่รู้ว่าจะมีอะไรเกิดขึ้นบ้าง ดังนั้น การเจรจาในครั้งนี้ประชาชนควรหันมาตื่นตัวและออกมาต่อต้านให้มากๆ เพราะการทำเอฟทีเอ นำไปสู่การให้สัมปทานด้านบริการสาธารณะทุกบริการ โดยเอฟทีเอที่ไทยจะทำกับสหรัฐมากถึง 300 กว่าข้อ เมื่อเซ็นไปแล้วจะไม่สามารถเปลี่ยนแปลงได้ ซ้ำยังต้องมีการแก้ไขกฎหมายกว่า 100 ฉบับเพื่อให้สอดคล้องกับข้อตกลงที่ได้ทำไว้
ทั้งนี้ ไม่อยากให้เป็นดังเช่นการทำสนธิสัญญาบาวริ่งที่เคยทำในปีค.ศ.1955 ซึ่งต้องใช้เวลากว่า 70 ปี ในการแก้ไข การทำเอฟทีเอก็เช่นเดียวกัน พันธทางสัญญาจะครอบคลุมในหลายด้านอาทิ การแก้กฎหมาย บางกรณีหากผู้กระทำผิดอาจไม่ต้องขึ้นศาลในไทย มีการคุ้มครองนักลงทุนทุกรูปแบบ ฯลฯ เมื่อรัฐบาลนี้หมดวาระไป รัฐบาลอื่นเข้ามาก็ไม่สามารถแก้สัญญาเหล่านี้ ได้เพราะเป็นการผูกพันมากกว่า 100 ปี โดยมีกติกาปกป้องหมดนักลงทุนทุกรูปแบบหรือแก้ไขได้แต่ต้องเสียค่าใช้จ่ายมหาศาล
นายเจริญ กล่าวอีก ว่า สหรัฐฯ ถือเป็นประเทศต้นแบบประชาธิปไตย ควรรับฟังความคิดเห็นที่แตกต่างและหากรู้ว่าในประเทศไทยมีการคัดค้านอย่างหนักจะกล้าลงนามด้วยหรือไม่ อย่างไรก็ตามการทำเอฟทีเอควรกระทำในประเทศที่มีระบบทางเศรษฐกิจไม่แตกต่างกันมาก ซึ่งไทยกับสหรัฐนั้นต่างกันราวฟ้ากับเหวการไปทำเอฟทีเอมีแต่เราจะเสียเปรียบอย่างเดียว
นอกจากนี้ การที่ไทยเคยลงนามในข้อตกลงแบบพหุภาคีนั้นก็เป็นสิ่งที่ถูกต้องแล้ว เพราะอย่างน้อยองค์กรการค้าโลก(WTO) ยังให้สิทธิคุ้มครองอยู่บ้างแต่การลงนามแบบทวิภาคีหรืเอฟทีเอสองต่อสองกับประเทศคู่ค้านั้นไม่มีสิทธิที่จะต่อรองอะไรได้ โดยเคยมีตัวอย่างให้เห็นกับประเทศ โมร็อคโค เอกวาดอร์ ชิลี ที่ระบบเศรษฐกิจพังทันที
นักวิชาการผู้นี้ ยังชี้ให้เห็นว่า การทำเอฟทีเอ ยังผูกพัน กับรัฐธรรมนูญมาตรา 224 ที่เขียนไว้ว่า พระมหากษัตริย์ทรงไว้ซึ่งพระราชอำนาจในการทำ หนังสือสัญญาสันติภาพสัญญาสงบศึก และสัญญาอื่น กับนานาประเทศหรือกับองค์การระหว่างประเทศ หนังสือสัญญาใดมีบทเปลี่ยนแปลงอาณาเขตไทยหรือเขตอำนาจ แห่งรัฐหรือจะต้องออกพระราชบัญญัติเพื่อให้การเป็นไปตามสัญญา ต้องได้รับความเห็นชอบของรัฐสภา
?ดังนั้นการทำเอฟทีเอถือเป็นการทำสนธิสัญญา พระมหากษัตริย์ทรงไว้ซึ่งอำนาจ และหากไม่ผ่านความเห็นชอบจากรัฐสภาถือว่า เป็นการจงใจละเมิดพระราชอำนาจ?
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ภาคประชาชนได้หารือถึงแนวทางการยับยั้งการเตรียมลงนามเอฟทีเอกับสหรัฐ โดยกำลังดูช่องทางกฎหมายว่าสามารถยับยังได้หรือไม่ ซึ่งเบื้องต้นได้ข้อยุติว่าจะออกหนังสือมา1ฉบับเพื่อยื่นไปยังผู้แทนการค้าของสหรัฐฯ เพื่อขอให้ระงับ โดยเห็นว่ารัฐบาลไม่มีความชอบธรรมหากจะมีการลงนามโดยที่ประชาชนไม่มีส่วนร่วมและไม่ผ่านความเห็นชอบจากรัฐสภา