กฎหมายยอมให้ตาย-ใบอนุญาตฆ่าถูกกฎหมาย?

Dark News

ไม่น่าเชื่อว่า...สังคมชาวพุทธอย่างบ้านเรา กำลังจะมีกฎหมายอนุญาตให้ผู้ป่วยตาย ตามความต้องการของตนเองได้

ไม่กี่วันมานี้...สภาผู้แทนฯ ได้เห็นชอบวาระแรกกับร่าง พ.ร.บ.สุขภาพแห่งชาติ ซึ่งหัวใจสำคัญของกฎหมายฉบับนี้อยู่ที่มาตรา 10 ที่บัญญัติว่า บุคคลมีสิทธิทำหนังสือแสดงเจตนา ไม่ประสงค์จะรับบริการสาธารณสุขที่เป็นไปเพียงเพื่อยืดความตายในวาระสุดท้ายของชีวิตตนหรือเพื่อยุติการทรมานจากการเจ็บป่วยได้

วรรคสองบัญญัติว่า ผู้ประกอบวิชาชีพด้านสาธารณสุข มีหน้าที่ต้องปฏิบัติตามเจตนาของบุคคลตามวรรคหนึ่ง และเมื่อปฏิบัติตามเจตนาดังกล่าวแล้ว มิให้ถือว่าการกระทำนั้นเป็นความผิดและให้พ้นจากความรับผิดชอบทั้งปวง

ทั้งนี้มีเงื่อนไขว่า ผู้ป่วยที่ทำหนังสือเจตจำนงขอตายนั้น ต้องบรรลุนิติภาวะแล้วและมีสติสัมปชัญญะสมบูรณ์ขณะทำหนังสือ และหนังสือแสดงเจตจำนง จะมีผลต่อเมื่อบุคคลนั้นอยู่ในภาวะ "วาระสุดท้ายของชีวิต" โดยมีแพทย์อย่างน้อย 2 คนให้การวินิจฉัยรับรอง

สรุปง่ายๆ ก็คือ ต่อไปนี้คนไทยสามารถทำจดหมายเหมือนพินัยกรรมที่ปฏิเสธการรักษาพยาบาล โดยปล่อยให้ตายตามวิถีธรรมชาติได้

ข้อดีของร่าง ก.ม.ฉบับนี้ ที่หยิบยกขึ้นมาอ้าง ก็คือ คนในครอบครัวไม่ต้องเดือดร้อน เปลืองเงินค่ารักษาพยาบาลโดยเปล่าประโยชน์เพราะรักษาไปก็ไม่รอดชีวิต ไม่ต้องอยู่ในสภาวะ "คนตายขายคนเป็น" นั่นคือ คนป่วยตายไปแล้ว แต่คนในครอบครัวยังต้องแบกรับภาระหนี้สินไปชั่วชีวิต

ส่วนแพทย์ก็ไม่ต้องหนักใจ ที่จะต้องยื้อชีวิตคนไข้ทั้งที่ไม่มีหวังและไม่ต้องเกรงว่าจะต้องรับผิดชอบตามกฎหมายหรือผิดจริยธรรมเพราะมีกฎหมายฉบับนี้รองรับ

อย่างไรก็ตาม...การที่สภาจะผ่านกฎหมายฉบับนี้ออกมาบังคับใช้ ต้องพิจารณาอย่างละเอียดถี่ถ้วนอย่างยิ่ง

เพราะมันเป็นเรื่องของ "ชีวิตมนุษย์" คนหนึ่ง เลยทีเดียว

สิ่งที่ต้องคำนึงถึงมีมากมายหลายประการ

ไม่ว่าจะเป็น...

-สิทธิของมนุษย์ทุกคนในการดำรงชีวิตอยู่ ตามที่ปฏิญญาสากลของสหประชาชาติ รับรองไว้

-รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มาตรา 31 ที่บัญญัติรับรองสิทธิของบุคคลในการมีชีวิตและมาตรา 52 ที่รับรองถึงสิทธิของบุคคลที่จะได้รับบริการสาธารณสุขที่ได้มาตรฐาน

-การที่ร่าง ก.ม.ฉบับนี้ ไม่ได้มีส่วนให้ญาติผู้ป่วย ได้เข้าไปร่วมตัดสินใจหรือรับรู้ในการยอมตายของผู้ป่วยเลย โดยปล่อยให้แพทย์เป็นผู้วินิจฉัยว่า ผู้ป่วยสมควรปล่อยให้ตายได้แล้วตามที่เจ้าตัวต้องการ

ทั้งที่แพทย์ก็เป็นเพียงบุคคลภายนอก มิได้มีส่วน "ผูกพัน" กับผู้ป่วยเลยแม้แต่น้อย

ผู้ป่วยอยากตาย แต่ญาติ "ทำใจ" ไม่ได้ อยากให้อยู่ต่อก็ได้

อีกทั้งจะรู้ได้อย่างไรว่า...การตัดสินใจของแพทย์นั้น ตรงไปตรงมาตามหลักวิชาชีพ ด้วยความบริสุทธิ์ใจจริงๆ ไม่มีเรื่อง "ผลประโยชน์" เข้ามาเกี่ยวข้อง

ตัวอย่างก็มีให้เห็นอยู่บ่อยๆ กับข่าวที่ว่า แพทย์ปฏิเสธการรับรักษาผู้ป่วยเพราะไม่มีเงินจ่าย อย่างกรณีนี้ หากผู้ป่วยนอนรับการรักษานานๆ เข้า เงินทองร่อยหรอหมดลง แพทย์เองอาจเกรงว่าขืนรักษาต่อไปผู้ป่วยคงไม่มีเงินจ่ายค่ารักษา จึงลงความเห็นว่าไม่ต้องรักษาต่อไป สมควรปล่อยให้ตายได้แล้ว...ก็อาจเป็นไปได้

นี่ยังไม่รวมถึง...กรณีที่แพทย์วินิจฉัยว่า อาการผู้ป่วยถึงวาระสุดท้ายด้วยความผิดพลาด ทั้งที่รักษาต่ออาจจะรอด

อีกทั้งร่าง ก.ม.ฉบับนี้ยังขัดต่อ "ศีลธรรม"

เพราะการปล่อยให้ตายก็เป็นการ "ฆ่า" อย่างหนึ่ง

แม้ว่า...ร่าง ก.ม.ฉบับนี้ จะผ่านสภาผู้แทนฯวาระแรกไปแล้ว หากจะคิดทบทวนใหม่ก็ยังทัน

แต่ถ้าต้องการออก ก.ม.ฉบับนี้จริงๆ ต้องถามตัวเองก่อนว่า หากผู้ป่วยนั้นเป็น ลูก-ภรรยา-สามี-พ่อ-แม่ v "คุณจะปล่อยให้เขาค่อยๆ ตายไปต่อหน้าต่อตาโดยไม่ทำอะไรเลย ได้หรือไม่"

**พิราบ**

หมวดหมู่ของข่าว: 

เนื้อหาข่าวเป็นการรวบรวมเพื่อการศึกษาวิจัยเท่านั้น อันเป็นประโยชน์ต่อสาธารณะ มิได้นำไปเพื่อการค้าแต่อย่างใด