เอกชนร้องรัฐดูแลสินค้าปลาก่อนเปิดเอฟทีเอ

9 มกราคม 2549 15:45 น.
นายกสมาคมผู้เพาะเลี้ยงปลาไทย ทำหนังสือถึงรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ดูแลผลิตภัณฑ์ปลา โดยจัดให้เป็นสินค้าอ่อนไหวก่อนเปิดเสรีในการเจรจาการค้าเสรีกับประเทศต่างๆ โดยเฉพาะกลุ่มเอฟตา ซึ่งจะทำให้ไทยเสียเปรียบเพราะเป็นกลุ่มประเทศที่มีศักยภาพในการส่งออกผลิตภัณฑ์มาก ระบุอัตราภาษีนำเข้าของไทยร้อยละ 5 ในปัจจุบันต่ำอยู่แล้ว

นายศักดิ์ สรรพานิช นายกสมาคมผู้เพาะเลี้ยงปลาไทย เปิดเผยถึงสถานการณ์การเพาะเลี้ยงปลาไทยว่า ขณะนี้เกษตรกรผู้เพาะเลี้ยงปลากำลังมีปัญหา เนื่องจากกำลังถูกกลุ่มเอฟตา (EFTA ) ซึ่งประกอบด้วย 4 ประเทศ คือ นอร์เวย์ ไอซ์แลนด์ สวิตเซอร์แลนด์ และลิกเตนสไตน์ พยายามให้ไทยลดภาษีสินค้าประมงทุกรายการ โดยเฉพาะสินค้าปลา เนื่องจากประเทศในกลุ่มนี้มีศักยภาพสูงมาก เช่น นอร์เวย์ และไอซ์แลนด์ เป็นประเทศผู้ส่งออกปลาและผลิตภัณฑ์มากที่สุดติด 1 ใน 5 ของโลก จึงหวังที่จะส่งปลาเข้าไทยอย่างเสรี ขณะที่อัตราภาษีที่ร้อยละ 5 ซึ่งไทยเก็บอยู่ปัจจุบันต่ำอยู่แล้ว

นายศักดิ์ กล่าวว่า ที่ผ่านมาในการเจรจาเอฟทีเอ สมาคมฯ ยืนยันมาโดยตลอดให้จัดสินค้าปลาและผลิตภัณฑ์ที่เป็นปลาพื้นฐานของคนไทยเป็นสินค้าอ่อนไหว (ยกเว้นสินค้าที่ผลิตเพื่อส่งออก) ให้ได้รับการดูแลพิเศษจากรัฐ เพราะเกี่ยวข้องกับผู้คน เกษตรกรผู้เลี้ยงและต่อเนื่องกว่า 2 ล้านคน ที่ปัจจุบันยังไม่พร้อมเปิดเสรี ยังต้องใช้เวลาระยะหนึ่งเพื่อพัฒนา รวมทั้งได้รับการส่งเสริมด้านต่างๆ จากภาครัฐ และขอให้คงอัตราภาษีที่ร้อยละ 5 ซึ่งต่ำมากอยู่แล้วให้นานที่สุด อย่างน้อย 10 ปี นับจากวันที่ความตกลงมีผลบังคับใช้ จากนั้นค่อยเริ่มทยอยลดภาษี ล่าสุดสมาคมฯ ได้ทำหนังสือถึงนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์เพื่อพิจารณาเรื่องดังกล่าวและกำลังจัดส่งหนังสือไปถึงเอคอัครราชทูตของประเทศในกลุ่ม EFTA ประจำประเทศไทย และขอเข้าพบเพื่อขอหารือและขอให้เห็นใจเกษตรกรผู้เพาะเลี้ยงปลาไทย

สำหรับรายการสินค้าปลาและผลิตภัณฑ์ที่สมาคมฯ ขอให้เป็นสินค้าอ่อนไหว รวม 8 พิกัด คือ พิกัดปลาอื่นๆ (ปลาพื้นฐานที่ผลิตได้ในประเทศ - 0302.69 , 0303.79, 0304.10, 0304.20, 0304.90, 0305.599) และพิกัดปลาซาบะ 0302.64 และ 0303.74 ส่วนสินค้าปลาที่นำเข้ามาแปรรูปเพื่อส่งออกพิกัด 0303.41, 0303.42, 0303.43, 0303.49 และ 0303.71 หากจำเป็นสามารถปรับลดภาษีได้ทันที หลังความตกลงเอฟทีเอมีผลบังคับใช้

หมวดหมู่ของข่าว: 

เนื้อหาข่าวเป็นการรวบรวมเพื่อการศึกษาวิจัยเท่านั้น อันเป็นประโยชน์ต่อสาธารณะ มิได้นำไปเพื่อการค้าแต่อย่างใด